
โดย มร. เจมส์ อู๋ ประธานบริหาร หัวเว่ย เทคโนโลยี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หากคุณคิดว่าคลาวด์เป็นแค่ที่เก็บข้อมูลบนก้อนเมฆ เพื่อจะได้มีพื้นที่ในฮาร์ดดิสก์เหลือเพิ่มขึ้น และเรียกใช้ข้อมูลได้ตลอดเวลาแล้วล่ะก็ บอกได้เลยว่าความคิดแบบนี้เก่าไปแล้ว เพราะตอนนี้เป็นยุคของ Cloud Computing ซึ่งก็คือการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และประยุกต์ใช้ข้อมูลบนคลาวด์ ซึ่งเมื่อมีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น เทคโนโลยีคลาวด์จะปรับเปลี่ยนโลกใน 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1: องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจะยกระบบขึ้นสู่คลาวด์
คลาวด์จะทำให้ทุกอย่างในโลกปลอดภัยมากขึ้นและจัดการได้ดีขึ้น รวมถึงในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งจะมีประชากร 6 พันล้านคนอาศัยอยู่ในราวปี พ.ศ. 2588 บริการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งใช้เทคโนโลยีคลาวด์ อาทิ ระบบไฟฟ้าก็จะสามารถซ่อมแซมปัญหาข้อผิดพลาดต่าง ๆ ในโครงข่ายกระแสไฟฟ้าได้เองโดยอัตโนมัติ ทำให้การจ่ายไฟมีความเสถียรและเชื่อถือได้มากขึ้น
ลองคิดถึงเครื่องยนต์กลไกหรือระบบต่างๆ ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นลิฟท์ไปจนถึงที่จอดรถ ฟาร์ม ไปจนถึงโรงไฟฟ้า ทั้งหมดจะเริ่มใช้คลาวด์ในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล และเราก็น่าจะได้เห็นโซลูชันอัจฉริยะสำหรับทุกๆ สิ่งในเร็ววัน เช่น รถไร้คนขับ แท็กซี่โดรน รถไฟอัจฉริยะ และนวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้านการเกษตรหรือการจ่ายไฟ
ความก้าวหน้าเหล่านี้ไม่ใช่แค่สำหรับบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมน่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะโดยทั่วไป บริษัทขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงข้อมูลและเครื่องมือที่จำเป็นในการวิเคราะห์และใช้งานได้ง่ายกว่า แต่เมื่อเข้าสู่การใช้งานระบบคลาวด์อย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าแม้แต่บริษัทเล็ก ๆ ก็จะใช้การวิเคราะห์ข้อมูล, เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และคุณสมบัติอื่นๆ ของคลาวด์เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด ตั้งแต่ธุรกิจธนาคารไปจนถึงอุตสาหกรรมการบิน การเกษตร ไปถึงงานศิลปะ ทุกๆ องค์กรจะยกระบบขึ้นสู่คลาวด์ ทำให้มีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดทั้งในด้านความเร็วและประสิทธิภาพ
นอกจากนี้หัวเว่ยได้มุ่งเน้นขยายตลาดการทำธุรกิจคลาวด์มายังประเทศไทย และได้รับทราบ ร่วมให้ข้อมูล ลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจเพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐซึ่งเป็นการส่งเสริมธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมในแบบต่าง ๆ เช่น ดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ไทยแลนด์สตาร์ทอัพ และรวมถึงบริการภาครัฐ และงานบริหารและบริการประชาชน การบริหารจัดการเมือง ตัวอย่างเช่น ระบบจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ระบบเฝ้าระวังและดูแลความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2: การบริหารจัดการข้อมูลจะทำบนคลาวด์
เมื่อองค์กรได้เปลี่ยนถ่ายสู่ระบบคลาวด์และเริ่มเก็บข้อมูล ปัญหาต่อไปก็คือ จะจัดการกับดาต้าเหล่านั้นอย่างไร คลาวด์จะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการช่วยจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาลในโลกนี้ ข้อได้เปรียบของคลาวด์ก็คือ สามารถเก็บและจัดระเบียบดาต้าได้จากส่วนกลาง เมื่อข้อมูลได้รับการจัดระเบียบและวิเคราะห์อย่างชาญฉลาดแล้ว การใช้ดาต้าเพื่อแก้ปัญหาในโลกจริงก็จะง่ายขึ้นมาก (ดูขั้นตอนที่ 4)
อีกวิธีหนึ่งที่คลาวด์สามารถช่วยจัดการข้อมูลได้ดีกว่าก็คือ การใช้งานบนสมาร์ทโฟน ที่เก็บข้อมูลมากมายในรูปแบบต่างๆ เช่น อีเมล ข้อความ และรูป การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีโครงสร้างต่างกันต้องใช้เวลาและพลังในการประมวลผลซึ่งสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ไม่มีศักยภาพเพียงพอ ดังนั้นโทรศัพท์จึงต้องส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่ทรงประสิทธิภาพบนคลาวด์
มีการคาดการณ์ว่า ในราวปี พ.ศ. 2568 สัดส่วนข้อมูลที่เป็นวิดีโอความละเอียดสูงของผู้ใช้แต่ละคนจะคิดเป็น 89% ของปริมาณข้อมูลทั้งหมด และที่น่าแปลกใจคือเนื้อหาของวิดีโอจะเป็นมากกว่าแค่การอวดแมวหรือสัตว์เลี้ยงของตัวเองบนยูทูป โดยส่วนใหญ่จะเป็นพวกโฆษณาหรือวิดีโอที่อัดไว้ใช้ในแอพพลิเคชั่นความปลอดภัยสาธารณะ โดย IDC เรียกข้อมูลเหล่านี้ว่า “เนื้อหาภาพและวิดีโอประเภทที่มิใช่เพื่อความบันเทิง (non-entertainment purposes)” ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตเป็นทวีคูณ ดังนั้นคลาวด์จึงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะช่วยจัดการกับปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาลขนาดนั้น
ขั้นตอนที่ 3: AI จะเกิดขึ้นในคลาวด์
เมื่อข้อมูลทั้งหมดมีการจัดเก็บและบริหารจัดการบนคลาวด์แล้ว AI จะบีบอัดและผสานรวมข้อมูลให้เป็นแรงขับเคลื่อนอันทรงพลังเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการใช้งานบนคลาวด์ AI จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการวิเคราะห์ข้อมูลและหาวิธีใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาด
คลาวด์จะรองรับ AI และช่วยให้เทคโนโลยีเริ่มต้นใช้งานได้จริงๆ ตัวอย่างหนึ่งคือ การเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือกับคลาวด์ ด้วยความอัจฉริยะแบบ Always-on อุปกรณ์ต่างๆ ในอนาคตจะตอบสนองกับการสั่งการด้วยเสียงได้ในทันที ทำให้มั่นใจได้ว่ารูปภาพต่างๆ จะได้รับการจัดระเบียบตามคอนเทนท์ และการถ่ายรูปก็จะปรับเปลี่ยนไปตามหัวข้อเฉพาะภายใต้เงื่อนไขการถ่ายรูปในแบบต่างๆ
โซลูชั่น AI บนคลาวด์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ อัลกอริธึ่ม AI ของ Google ที่เล่นเกมโกะหรือเกมหมากล้อม ในช่วงฝึกฝน อัลกอริธึ่ม AI ของ Google ต้องเล่นเกมโกะกับตัวเองเป็นล้านๆ ครั้ง กว่าจะกลายเป็นเซียนตัวยงจนสามารถเอาชนะคนได้ การฝึกทั้งหมดเกิดขึ้นบนคลาวด์ ซึ่งมีพลังการประมวลผลมากมาย และ AI ก็เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นก็ส่งกลับไปยังอุปกรณ์และนำไปปรับใช้
เพราะ AI ต้องประมวลผลข้อมูลในแบบเรียลไทม์ตลอดเวลา แม้แต่สมาร์ทโฟนที่ทันสมัยสุดๆ ในอนาคตก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านการประมวลผลของ AI ได้ จึงต้องพึ่งพาพลังของคลาวด์ และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ AI จะได้รับความนิยมและยังอยู่บนคลาวด์ ทำให้สมาร์ทดีไวซ์เป็นช่องทางสำคัญที่เราจะมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับ AI ในอนาคต
ขั้นตอนที่ 4: แอพพลิเคชั่นใหม่ๆที่น่าสนใจจะมาจากคลาวด์
ฉันไม่รู้หรอกว่าคุณจะคิดอย่างไร แต่สิ่งที่ฉันอยากเห็นก็คือ รถที่ขับเคลื่อนได้เองโดยไม่ต้องมีคนขับ คนกว่าหนึ่งล้านคนทั่วโลกต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ทุกปี ลองคิดถึงภาพในอนาคตที่จำนวนอุบัติเหตุจากรถชนกันลดลงจนเกือบจะเป็นศูนย์ดูสิ ซึ่งอนาคตแบบนั้นมีทางเป็นไปได้ และก็ใกล้จะมาถึงแล้ว เพราะเทคโนโลยีคลาวด์นั่นเอง
ยานยนต์จะมาพร้อมเซ็นเซอร์และกล้องรอบตัว ซึ่งจะทำให้เกิดดาต้าจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกับสมาร์ทโฟน ข้อมูลจำนวนมากนั้นต้องมีการประมวลผลแบบเรียลไทม์ ดังนั้น การประมวลผลจะเกิดภายในตัวรถเลย แต่งานหลายอย่างๆ อาทิ การอัพเดทซอฟท์แวร์และแมชชีน เลิร์นนิ่ง จะเกิดขึ้นบนคลาวด์
แอพพลิเคชั่นอื่นๆ เช่น การส่งของทางโดรน สมาร์ทเฮลธ์แคร์ เครื่องจักรด้านการเกษตรอันทันสมัย และหุ่นยนต์ผู้ช่วยส่วนตัวสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งหมดจะทำงานในลักษณะเดียวกัน แอพพลิเคชั่น AI จะมีให้บริการเป็นจำนวนมากผ่านคลาวด์และสร้างประโยชน์มากมายแก่มนุษย์
แม้ภาพของรถไร้คนขับที่แล่นไปบนถนนและทางหลวงยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน แต่ก็จะเกิดขึ้นแน่นอน รวมถึงแอพพลิเคชั่นและโซลูชั่นใหม่ๆ อีกมากมาย ลองมองขึ้นไปบนท้องฟ้า ก้อนเมฆ และจินตนาการถึงโลกที่ดีกว่าเดิม โลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ
ในระยะเวลาอันใกล้เทคโนโลยีคลาวด์และ AI ที่จะเห็นในใกล้ตัวเราเข้ามาจะรวมถึง การตรวจจับใบหน้าร่วมกับอัตลักษณ์อื่นๆ เช่นท่าทาง การเคลื่อนไหว วัตถุ สิ่งของ เครื่องมือในโรงงาน สำนักงาน ยานพาหนะ และเซ็นเซอร์ทางอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อตรวจสอบ เฝ้าระวัง หาทางเลือก ตัดสินใจ บริหารจัดการอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น ระบบฉลาดๆในโรงงานที่ใช้หุ่นยนต์กลไก สมองกลร่วมกับอุปกรณ์เครื่องจักรยุคใหม่ (Smart Factory/Smart Manufacturing) การควบคุมการจราจรด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์อัตโนมัติ AI-base Traffics Management System (TrafficGo) เป็นต้น
###