เอไอเอส จับมือ วิศวะมหิดล วิจัยพัฒนานวัตกรรมต้นแบบหุ่นยนต์ “UVC Moving CoBot” หุ่นยนต์แขนกลเคลื่อนที่อัจฉริยะ สร้างพื้นที่ปลอดไวรัส ด้วยรังสียูวีซี 
ต้อนรับการเปิดประเทศให้คนไทยใช้ชีวิตในยุค Next Normal ได้อย่างอุ่นใจและปลอดภัย

เอไอเอสโดย AIS Robotic Lab ทีมพัฒนาหุ่นยนต์ 5G อัจฉริยะร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลลงนามความร่วมมือ (MOA) ในการศึกษาวิจัยทดลองทดสอบเพื่อพัฒนานวัตกรรมต้นแบบจากเทคโนโลยี 5G เพื่อยกระดับงานด้านสาธารณสุขเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพให้กับคนไทยโดยมีนวัตกรรมนำร่องคือ “UVC Moving CoBot” หุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะฆ่าเชื้อไวรัสด้วยรังสียูวีซีแบบเคลื่อนที่ฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ถึง 99.99% นับเป็นเครื่องมือใหม่ช่วยธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเดินหน้าต่อด้วยมาตรฐานความปลอดภัยและช่วยให้คนไทยใช้ชีวิตในยุค Next Normal ได้อย่างอุ่นใจและปลอดภัยรับมือสถานการณ์ระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อและตอบรับโรดแมปการเปิดประเทศ

คุณอราคินรักษ์จิตตาโภคหัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรมบริษัทแอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิสจำกัดมหาชน (เอไอเอส) กล่าวว่า “เรามีความมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและขีดความสามารถของทีมงาน ร่วมมายกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา กับ “โครงการ AIS ROBOT FOR CARE” ที่ได้นำศักยภาพของเครือข่าย 5G, AI, Cloud และ Robotic มาประยุกต์ใช้เป็นโครงข่ายดิจิทัลพื้นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาหุ่นยนต์ 5G เพื่อช่วยปฏิบัติงานทางการแพทย์ วันนี้ เอไอเอส จึงภูมิใจอย่างยิ่งที่ทีม AIS Robotic Lab ได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล วิจัยพัฒนา UVC Moving CoBot ระบบหุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีแบบเคลื่อนที่ ที่ถือเป็นต้นแบบหุ่นยนต์อัจฉริยะ ที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ในขั้นต่อไป 

โดยมีจุดเด่นของ UVC Moving Cobot คือ แขนกลสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ จึงสามารถทำความสะอาดโต๊ะ ตู้ เตียง ชั้นวางสินค้า และฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้อย่างทั่วถึง ซึ่งมีความปลอดภัยอย่างมาก และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกันพัฒนาฟีเจอร์อัจฉริยะ อย่าง เทคโนโลยี Virtual Mapping ที่ช่วยกำหนดแผนที่เส้นทางเดินของหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่เข้าหาวัตถุหรือสถานที่ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และยังสามารถบังคับหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ตามต้องการ ผ่านเครือข่าย 5G ทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้อัตโนมัติ ตลอด 24 ชั่วโมง ลดภาระงานหนัก และลดความเสี่ยงต่ออันตรายจากรังสี UV-C และลดการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมต้นแบบที่จะพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ในอนาคต เพื่อสังคมและเศรษฐกิจไทย ช่วยให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีไทย และคนไทยสามารถใช้นวัตกรรมในราคาประหยัด ลดการนำเข้า สร้างความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจและชีวิตประจำวัน นำมาซึ่งความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศนอกจากนี้ ยังถือเป็นเป็นการบ่มเพาะบุคลากรด้าน Digital และ Robotic ซึ่งจะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย”

ดร.เอกชัยวารินศิริรักษ์หัวหน้าทีมวิจัยและหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำหรับ UVC Moving CoBot ระบบหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีแบบเคลื่อนที่ มีส่วนประกอบหลัก 4 อย่าง ซึ่งทำงานร่วมกัน คือ 

1. แหล่งกำเนิดรังสียูวีซีขนาดกำลังอย่างน้อย 16 วัตต์ ขนาดหลอดยาว 25 – 35 เซนติเมตร ติดตั้งบนปลายแขนของหุ่นยนต์แขนกล 

2. หุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะ ซึ่งแขนด้านหนึ่งของหุ่นยนต์ติดตั้งแหล่งกำเนิดรังสียูวีซี และแขนอีกด้านหนึ่งเป็นฐานของหุ่นยนต์ ติดตั้งเข้ากับ AGV รถนำทางอัตโนมัติ สามารถครอบคลุมการฉายรังสีในระยะ 65 – 75 ตารางเซนติเมตร เคลื่อนไหวได้ความเร็วต่ำสุด 2 เซนติเมตร/5 นาที และความเร็วสูงสุด 110 เซนติเมตร/นาที ยกโหลดน้ำหนักวัตถุได้ 5 กิโลกรัม 

3. รถนำทางอัตโนมัติ (Automated Guide Vehicle: AGV) สามารถเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางที่มีแถบแม่เหล็กกำหนดไว้ ตัวรถมีความเร็วในการเดินทางไม่ต่ำกว่า 8 เมตร/นาที สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 500 กิโลกรัม ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เป็นระบบขับเคลื่อน 

4. ระบบเครื่องจักรมองเห็น (Machine Vision) ทำหน้าที่ค้นหาสัญลักษณ์เพื่อประเมินผลคุณลักษณะของวัตถุภายในพื้นที่ โดยระบบจะจดจำวัตถุและออกคำสั่งการเคลื่อนที่ตามที่บันทึกไว้หรืออ่านคำสั่งด้วยรหัสบาร์โค้ด  

ไวรัส COVID-19 และเชื้อโรคอีกหลายชนิด นอกจากระบาดโดยการแพร่กระจายในละอองฝอยอากาศแล้ว ยังอาจกระจายเชื้อไวรัสและเชื้อต่างๆ สู่พื้นผิวของวัสดุและของใช้ต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาเก็ต โรงภาพยนตร์ สำนักงาน เป็นต้น ในทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับว่า การใช้รังสี UV-C ที่มีความยาวคลื่น 200-280 นาโนเมตร สามารถฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่อยู่บนพื้นผิวต่างๆได้  ปัจจัยที่จะทำให้การฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีได้เต็มประสิทธิภาพอย่างแท้จริงนั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบทางวิศวกรรม ได้แก่ 1.ค่าความเข้มของหลอด (Power Density) 2.ระยะห่างของพื้นผิวที่ต้องการฉายเพื่อฆ่าเชื้อ (Distance)  และ 3.ระยะเวลาของการฉายรังสี (Time) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆ่าเชื้อนั้นจะต้องนำแสงรังสีเข้าใกล้กับตัวพื้นผิวที่ต้องการฆ่าเชื้อให้มากที่สุด และต้องทำให้ครอบคลุมทั่วถึงพื้นผิวทั้งหมดด้วย (ระยะห่าง ขึ้นอยู่กับกำลังวัตต์ ตามหลักวิศวกรรม)”

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ศุทธากรณ์คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในยุโรปได้เข้าสู่การระบาดระลอกที่ 3 แล้ว มีอัตราการติดเชื้อสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. หลายประเทศได้ประกาศขยายล็อคดาวน์อีกครั้งหนึ่ง สำหรับประเทศไทยก็มีการพบคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อเป็นระยะ แม้ว่าวัคซีนโควิดจะเริ่มนำเข้ามาฉีดให้ประชาชนแล้ว เรายังจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับโควิดต่อไป จึงเป็นที่มาของการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม UVC Moving CoBot ระบบหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีแบบเคลื่อนที่ โดยทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นที่น่ายินดีที่สององค์กรคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ เอไอเอส ได้ผนึกพลังศักยภาพของผู้นำภาควิชาการและผู้นำด้านเทคโนโลยีและบริการดิจิทัล อันดับ 1 ของไทย ในการพัฒนาจากต้นแบบนวัตกรรมไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในอนาคต เพื่อประโยชน์ต่อคนไทยและเศรษฐกิจไทยโดยรวม มุ่งตอบโจทย์ทำอย่างไรจึงจะสร้างพื้นที่ปลอดไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง ฆ่าเชื้อไวรัสและเชื้อโรคได้อย่างมั่นใจและทั่วถึง ตลอดจนทำงานอัตโนมัติแทนมนุษย์ได้ 24 ชม.เพื่อให้คนไทยรับมือกับ Next Normal และโควิด-19 ระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้” ทั้งเตรียมการเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยว

โดยรัฐบาลมี โรดแมปเปิดประเทศไทย จะเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2 (เม.ย. – มิ.ย. 2564) เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ได้รับวัคซีนแล้ว เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา เกาะสมุย พัทยา และเชียงใหม่ โดยต้องกักตัวในโรงแรมเป็นเวลา 7 วัน , ไตรมาส 3 (ก.ค. – ก.ย. 2564) นำร่องที่ จ.ภูเก็ต จะไม่มีการกักตัว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส สามารถบินตรงเข้าสนามบินภูเก็ต และตรวจเชื้อเมื่อเดินทางมาถึง โดยไม่ต้องกักตัวและต้องอยู่ใน จ.ภูเก็ตอย่างน้อย 7 วัน ก่อนออกเดินทางไปที่อื่น ๆ และใช้มาตรการป้องกันควบคู่กับ Vaccine Certificate และแอปพลิเคชั่นติดตามตัว , ส่วนไตรมาส 4 (ต.ค. – ธ.ค. 2564) เพิ่มพื้นที่นำร่อง กระบี่ พังงา       เกาะสมุย พัทยา และเชียงใหม่, คาดว่าเดือนมกราคม 2565 จะสามารถเปิดประเทศไทยได้ทั้งประเทศ

###

About naruethai

Check Also

เอชพี พลิกโฉมประสบการณ์ลูกค้า เปิดโชว์รูมเสมือนจริงแห่งแรกในประเทศไทย

นำเสนอนวัตกรรมพีซีและพรินเตอร์ล้ำสมัย ผ่านประสบการณ์โต้ตอบแบบอินเทอร์แอคทีฟ เอชพี อิงค์ เผยโฉม HP virtual showroom โชว์รูมเสมือนจริงแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้กับลูกค้า ครอบคลุม 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะนำลูกค้าเข้าสู่โลกเสมือนจริงที่ทันสมัย สัมผัสประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีที่หลากหลายตามความต้องการใช้งานที่แตกต่าง

แนะนำจอมอนิเตอร์ถนอมสายตาผสานดีไซน์สุดคลาสสิกจอแรกในไทยจากหัวเว่ย

หากนึกถึงดีไวซ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จำเป็นสำหรับคนยุคใหม่ทั้งวัยทำงานและวัยเรียน จอมอนิเตอร์มักจะเป็นอีกหนึ่งไอเทมที่หลายๆ คนนึกถึง เพราะไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ออฟฟิศ ฟรีแลนซ์ นักเรียน นักศึกษา หรือมีไลฟ์สไตล์แบบใดก็ตาม ต่างก็ต้องการตัวช่วยดีๆ มาเพิ่มความสะดวกสบายและเติมเต็มประสบการณ์ในระหว่างการใช้งาน พร้อมทั้งช่วยเสริมสร้างอรรถรสด้านการมองเห็น ด้วยภาพที่คมชัด เต็มตา เก็บรายละเอียดได้ทุกองศา และที่สำคัญต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของดวงตาเมื่อใช้งานต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน …