ประเทศไทย, 20 พฤศจิกายน 2561 – ผลวิจัยชิ้นใหม่จาก เอสเอพี พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยยุติการซื้อสินค้าออนไลน์เมื่อถึงขั้นตอนเช็คเอาท์ที่ต้องกด “ซื้อ” โดยมากกว่าครึ่งหนึ่ง (60%) มีการละทิ้งตะกร้าสินค้าออนไลน์ทุกครั้ง หรือบางครั้ง ทั้งนี้ การศึกษา SAP Consumer Propensity ซึ่งให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ ยังพบว่า ค่าจัดส่งสินค้าที่มีราคาสูง (48%) คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการละทิ้งตะกร้า นอกจากนี้ มากกว่า 30% ของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ชาวไทย ใช้ตะกร้าสินค้าออนไลน์เป็นเครื่องมือเปรียบเทียบราคาเท่านั้น โดยไม่ได้มีความตั้งใจที่จะซื้อสินค้าแต่อย่างใด แถมคนกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดยังยกเลิกการซื้อสินค้าเนื่องจากขั้นตอนการเช็คเอาท์ที่น่าเบื่อ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งอยู่ที่ 23%
เราได้ทำการสำรวจผู้บริโภคชาวไทย 1,000 คน เพื่อทำความเข้าใจความต้องการในการซื้อสินค้าออนไลน์ และแรงจูงใจในการซื้อสินค้าจนเสร็จสมบูรณ์ โดยการสำรวจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับโลก รวมทั้งอีกหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ผลการสำรวจพบว่า ราคาคือปัจจัยกระตุ้นการเลือกซื้อที่สำคัญที่สุด ทั้งด้านโปรโมชั่น (59%) และส่วนลดเมื่อซื้อสินค้าเพิ่มอีกชิ้น (41%) ก็เป็นตัวกระตุ้นให้นักช็อปกดจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้า นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยยังต้องการให้แบรนด์ต่าง ๆ มีความเข้าใจความต้องการของพวกเขาอย่างแท้จริง เช่น ประวัติการซื้อสินค้าของพวกเขา (37%) ผู้บริโภคเกือบครึ่งหนึ่งให้ความสนใจกับสินค้าแนะนำมากที่สุด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอยู่ที่ 25%
นายปรานัตตราตี ฮาราน รองประธาน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ SAP Customer Experience กล่าวว่า “ดาต้าของการละทิ้งตะกร้าสินค้าออนไลน์ คือแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยมสำหรับผู้ค้าปลีกในการระบุจุดเปลี่ยนในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค และปรับปรุงประสบการณ์โดยรวมของผู้บริโภคให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ประเภทของสินค้าที่เลือกซื้อ เวลาที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนการเลือกซื้อ เวลาที่เหลือสำหรับการวางสินค้าในตะกร้า และจุดที่เกิดการละทิ้งตะกร้าที่แม่นยำ ล้วนเป็นดาต้าที่ช่วยให้ผู้ค้าปลีกดำเนินการโดยมีข้อมูลรองรับ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคและการซื้อสินค้าจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้มากขึ้น”
ผลการศึกษาชิ้นนี้ ยังแนะนำว่า ธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ใช้งานในขั้นตอนการเช็คเอาท์ เช่น ร้านค้าปลีกต่างๆ สามารถแสดงข้อมูลค่าจัดส่งสินค้าและค่าภาษีในระหว่างขั้นตอนการเลือกซื้อ แทนที่จะแสดงผลเมื่อถึงขั้นตอนเช็คเอาท์สินค้าอย่างเดียว ซึ่งสามารถสร้างความตกใจให้ผู้ซื้อถึงราคามูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าราคาสินค้าจริงค่อนข้างมาก นอกจากนี้การสร้างความมั่นใจว่ากระบวนการการเช็คเอาท์สินค้านั้นไม่ยุ่งยาก และเสร็จสิ้นภายใน 5 ขั้นตอน สามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้
ผลการศึกษาชิ้นนี้ ยังเสนอความต้องการหลักๆ ของผู้บริโภคชาวไทย สู่การมอบประสบการณ์การซื้อสินค้าออนไลน์ที่ดีขึ้นของแบรนด์ต่างๆ ดังนี้
นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทย ยังไม่ได้จับจ่ายใช้สอยสินค้าออนไลน์มากนักเมื่อเทียบกับผู้บริโภคจากประเทศอื่นๆในเอเชียแปซิฟิก ด้วยผลการสำรวจที่บ่งชี้ว่า พวกเขามักซื้อสินค้าน้อยที่สุดในกลุ่มสินค้าเกือบทุกประเภท (5 จาก 7 ประเภท) ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 19%) สินค้าดิจิตอล (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 14%) สินค้าอุปโภคบริโภค (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 19%) สินค้าเพื่อความบันเทิง (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 21%) และสินค้าเฟอร์นิเจอร์ (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 12%) สำหรับสินค้าประเภทที่เหลือ ผู้บริโภคชาวไทยยังคงล้าหลังในแง่ของการซื้อสินค้าด้านการเงิน (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 12%) และสินค้าแฟชั่น (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 4%)
“หากเปรียบเทียบกับตลาดอื่น ๆ ในเอเชีย จะเห็นว่าตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และมีโอกาสสูงสำหรับธุรกิจต่างๆที่สามารถมอบประสบการณ์แบบส่วนบุคคล และการมีส่วนร่วมให้กับผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ดังกล่าวต้องมีความเกี่ยวเนื่องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค และขยายขอบเขตไปไกลกว่าการซื้อสินค้า คือรวมถึงการให้บริการและความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน” นายปรานัตตราตี กล่าวปิดท้าย
นอกจากนี้ การใช้กลยุทธ์ Omni Channel ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีพื้นฐานจากการมองเห็นลูกค้าในทุกจุดสัมผัสบริการ ทุกเวลา และการใช้ระบบ analytics ขั้นสูงเพื่อคาดการณ์พฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อเข้าใจเจตนาของลูกค้าแบบเรียลไทม์ จะเป็นสิ่งสำคัญในการมอบประสบการณ์ซื้อสินค้าที่ไม่เหมือนใคร และสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภค
###
เกี่ยวกับ เอสเอพี
เอสเอพี (NYSE: SAP) ผู้นำในด้านซอฟแวร์ระบบการจัดการองค์กร ช่วยให้การดำเนินงานขององค์กรในทุกขนาดมีประสิทธิภาพ จากทีมสำนักงานเบื้องหลังสู่ห้องประชุม จากคลังสินค้าสู่หน้าร้าน จากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะสู่โทรศัพท์พกพา เอสเอพี ช่วยให้บุคลากรและองค์กรทำงานสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยให้เข้าถึงตลาดได้อย่างลึกซึ้ง นำมาซึ่งความสามารถในการแข่งขันและบทบาทผู้นำของตลาด แอพลิเคชั่นและบริการของเอสเอพีช่วยให้ผู้ใช้กว่า 388,000 ราย สามารถดำเนินธุรกิจอย่างก้าวหน้ามีผลกำไร ปรับตัวได้ฉับไว และเติบโตอย่างยั่งยืน หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเข้าชม www.sap.com
เกี่ยวกับ SAP Consumer Propensity Study
SAP Consumer Propensity Study คือผลการศึกษาจาก เอสเอพี ที่มาจากการสำรวจพฤติกรรม ความพึงพอใจ และทัศนคติ ที่มีต่อมุมมองเฉพาะในด้านการค้า โดยทำการสำรวจกับผู้บริโภค 600 ถึง 1,000 ราย ในตลาดแต่ละประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน โคลอมเบีย เดนมาร์ค ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลี ซาอุดิอาระเบีย เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ รัสเซีย สิงคโปร์ สวีเดน ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา