หลักเฟ้นหาบุคลากรสายเทคโนโลยี คำบอกเล่าจากผู้ช่ำชอง

เขียนโดย นางสาวนิคิตา เอลิซาเบท ไซริแอ็ก หัวหน้าฝ่ายสรรหาบุคลากร
บริษัท ThoughtWorks บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิตัลระดับโลก

Cropped studio shot of a group of a diverse group of businesspeople using wireless devices while waiting in line

เทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจทั้งหลายที่พยายามก้าวเข้าสู่ความเป็นดิจิตัล  ไม่ว่าจะเป็นธนาคารข้ามชาติหรือแม้แต่ร้านดอกไม้ ไม่มีองค์กรหรือบุคคลใดหลีกเลี่ยงกระแสเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกได้

ไม่น่าแปลกใจที่การขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีดิจิตัล ได้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็นที่ต้องการมากขึ้น มากกว่าจำนวนบุคลากรที่มีอยู่

บริษัททั้งหลายต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อดึงดูดบุคลากรให้สนใจมาทำงานกับบริษัท และมัดใจบุคลากรที่มีอยู่ให้ทำงานกับบริษัทไปนานๆ บริษัททั้งเล็กและใหญ่ต่างก็ดึงดูดพนักงานด้วยค่าตอบแทนที่สูงและสวัสดิการที่ดี รวมทั้งโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน 

การสรรหาบุคลากรจึงมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น เมื่อสิบปีที่แล้วที่ดิฉันเข้ามาทำงานด้านนี้ วิธีการสรรหาพนักงานในสายเทคโนโลยีค่อนข้างตรงไปตรงมา คือเมื่อได้พนักงานที่มีทักษะด้านเทคนิคตามที่ต้องการแล้ว ก็เป็นอันเสร็จสิ้น

ทว่าปัจจุบัน พนักงานด้านเทคโนโลยีที่บริษัทมองหานั้น ต้องมีคุณสมบัติมากขึ้น คือนอกจากทักษะด้านเทคนิคแล้ว ยังต้องมีความสามารถในการปรับตัว มีความยืดหยุ่น รวมทั้ง Soft skills ซึ่งได้แก่ ทักษะการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอีกด้วย

บุคลากรประเภทใดที่บริษัทควรเสาะหา

จากงานวิจัยของประชาคมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) พบว่า ในอนาคตนั้น ร้อยละ 65 ของเด็กที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ในขณะนี้ จะได้งานในตำแหน่งงานที่ปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ ซึ่งก็คือความรู้ด้านทักษะนั้น อาจใช้ไม่ได้แล้วในวันข้างหน้า ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยนอกเหนือจากความรู้ด้านทักษะก็คือ ความมีใจรักและหลงใหลในเทคโนโลยี ความใฝ่รู้ รวมทั้งความสามารถในการปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสมรภูมิธุรกิจและเทคโนโลยี เพราะความรู้ด้านทักษะนั้น สามารถสอนกันได้     ในการคัดเลือกบุคลากร บริษัทจึงต้องทบทวนว่าจะให้สัดส่วนความสำคัญในเรื่องความรู้ด้านเทคนิคเมื่อเทียบกับศักยภาพโดยรวมของผู้สมัครอย่างไร 

ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสรรหาบุคลากรของบริษัท ThoughtWorks หน้าที่ของดิฉันจึงไม่ใช่เพียงการหาผู้สมัครให้ได้ตรงตามลักษณะงานอีกต่อไป  บ่อยครั้งที่เราสนใจผู้สมัครที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งอดีตเคยเป็นสิ่งจำเป็น ดิฉันมีตัวอย่างที่น่าสนใจของพนักงานที่ชื่ออแมนดา ซึ่งไม่มีปริญญาด้านคอมพิวเตอร์ แต่บริษัทได้ว่าจ้างให้เข้าทำงานในตำแหน่งนักพัฒนาซอฟท์แวร์

อแมนดาเป็นอดีตพนักงานธนาคาร และได้ลาออกเพื่อไปเรียนวิชาโปรแกรมมิ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้เธอไม่ได้มีความรู้ด้านนี้มาเลย สิ่งที่น่าทึ่งเมื่อดิฉันได้พบอแมนดา คือ ความหลงใหลในเทคโนโลยีและความมุ่งมั่น ใฝ่รู้ เพื่อพัฒนาตัวเอง อแมนดาทำงานกับ ThoughtWorks ได้ปีกว่าแล้ว และกลายเป็นกำลังสำคัญของหลายโครงการ  ประสบการณ์ด้านธุรกิจและธนาคาร ได้ช่วยให้เธอเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าและปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี  และเมื่อผนวกกับทักษะด้านเทคนิคแล้ว ก็ทำให้เกิดมุมมองใหม่ในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นคุณสมบัติของนักพัฒนาที่ดี เพราะต้องเผชิญกับปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน

สิ่งที่ดิฉันเรียนรู้มาตลอดคือ ในการสรรหาและตัดสินใจว่าจ้างพนักงานนั้น ตัวบุคคลมีความสำคัญกว่าปริญญา ตำแหน่งงาน หรือประสบการณ์ โดยคุณสมบัติสำคัญที่ควรพิจารณา มีดังนี้

  1. ความยืดหยุ่น มีไหวพริบ คล่องตัว และพร้อมในการปรับตัว (Technical Agility)
    คุณสมบัติข้อนี้ควรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพิจารณาคัดเลือกพนักงาน เพราะองค์กรต้องพัฒนา และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ได้ บุคลากรที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจะช่วยให้บริษัททันต่อเหตุการณ์ และปรับตัวได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
  2. ความมีใจรัก ฝักใฝ่เรียนรู้อย่างไม่หยุดหย่อน (An Insatiable Appetite for Learning)
    การเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวทางเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ มีโดเมน บริการ ภาษาคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ในวารสารราย 6 เดือน ของ ThoughtWorks ที่ชื่อว่า Technology Radar  ฉบับเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ระบุว่า ความเชี่ยวชาญด้าน conversational UI และ natural language processing (NLP) เป็นทักษะที่จำเป็น การหมั่นติดตามความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงล่าสุด ยังแสดงให้เห็นถึงใจที่ฝักใฝ่เรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองตลอดเวลา
  3. ความเป็นผู้นำ (Leadership)
    ความเป็นผู้นำ เป็นคุณสมบัติสำคัญที่บริษัทพิจารณาเพื่อคัดเลือกบุคลากรชั้นเลิศ ผู้สมัครที่มีประสบการณ์ที่แสดงถึงภาวะความเป็นผู้นำได้อย่างชัดเจน หรือเคยร่วมงานกับกลุ่ม Tech Community จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ การเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทมองหาพนักงานที่มีศักยภาพเพื่อเติบโตไปพร้อมกัน และมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งงานทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วย
  4. ทักษะการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น (Soft skills)
    นอกจากทักษะด้านเทคโนโลยีแล้ว  ผู้สมัครจำเป็นต้องมีทักษะด้านธุรกิจและการสื่อสารที่ดี เพราะนักเทคโนโลยีไม่สามารถทำงานเพียงลำพังได้อีกต่อไป ดังนั้น ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความคิดริเริ่ม สำนึกความเป็นเจ้าของ และความรับผิดชอบ จึงล้วนมีความสำคัญ ส่วนในเชิงธุรกิจนั้น ผู้สมัครจะต้องรู้ว่าจะนำทักษะต่างๆ ของตน มาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัทและของลูกค้าได้อย่างไร รวมทั้งสามารถให้คำแนะนำที่ดี เพื่อให้การพัฒนาบริษัทโดยใช้ดิจิตัลเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง
  5. ความเหมาะสมและเข้ากันได้กับวัฒนธรรมองค์กร (Culture fit)
    ท้ายสุด ผู้มีหน้าที่สรรหาบุคลากรต้องคอยติดตามว่าขั้นตอนการประเมินที่ใช้เพื่อคัดเลือกพนักงาน จะต้องสอดคล้องและปรับเปลี่ยนไปตามเป้าหมายและลักษณะเฉพาะของบริษัทที่แตกต่างกันไป  การมีระบบที่บอกได้ว่าผู้สมัครเหมาะสมและเข้ากับองค์กรได้หรือไม่นั้น จะทำให้สามารถแยกแยะได้ระหว่างผู้สมัครที่จะทำงานอยู่กับองค์กรเป็นเวลานานและผู้สมัครที่จะทำงานแค่เพียงระยะสั้นเท่านั้น

ThoughtWorks ยังให้ความสำคัญในเรื่องของความแตกต่างและหลากหลาย ซึ่งก็รวมอยู่ในหลักเกณฑ์การรับพนักงานเข้าทำงานด้วย บริษัทฯ มุ่งมั่นสร้างบรรยากาศการทำงานที่มีความหลากหลาย และเชื่อมั่นว่าพนักงานทุกคนมีความสามารถที่จะร่วมพัฒนาธุรกิจไปกับบริษัทได้เป็นอย่างดี

————————————————-

About ThoughtWorks

ThoughtWorks เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล และผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ระดับโลก ThoughtWorks มีพนักงานกว่า 5,000 คนทั่วโลก และมีสำนักงาน 43 แห่ง ใน 14 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในทวีปเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย สิงคโปร์ และไทย

About naruethai

Check Also

ผลการศึกษาฉบับใหม่ของ Qualtrics ระบุว่า คนทำงานมากกว่า 60% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงรู้สึกไม่สะดวกที่จะกลับไปทำงานในที่ทำงาน

ผลการศึกษาทางธุรกิจเรื่อง “การกลับไปทำงานในที่ทำงาน” ซึ่งเป็นผลการศึกษาของคนทำงานในประเทศไทยและมาเลเซีย เกี่ยวกับความมั่นใจในการกลับไปใช้ชีวิตในสังคม กรุงเทพ, 16 มิถุนายน 2563 – ควอทริคซ์  (Qualtrics) ผู้นำด้านประสบการณ์ลูกค้าและผู้สร้างการจัดการประสบการณ์ ประกาศผลการศึกษาเรื่อง “การกลับไปทำงานในที่ทำงาน” (Return …

โคบอทส์ หุ่นยนต์ผู้ช่วยด้านสุขภาพ

โดยนายดาร์เรลล์อดัมส์  หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย   บริษัท  ยูนิเวอร์ซัลโรบอท   โควิด -19  เป็นโรคระบาดที่แพร่ไปทั่วโลก และสร้างความประหลาดใจไปพร้อมๆ กับระบบการดูแลสุขภาพที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ยากที่สุดอย่างกระทันหัน  บุคลากรทางการแพทย์กำลังทำงานตลอดเวลา และเป็นแนวหน้าที่ต้องทำงานหนัก ซึ่งทำให้เกิดความเหนื่อยล้าในหลาย ๆ …

Sahifa Theme License is not validated, Go to the theme options page to validate the license, You need a single license for each domain name.