เอ็กซ์เซ้นส์ผู้พัฒนาระบบติดตามยานพาหนะต่อยอดความสำเร็จสู่การพัฒนาระบบในการให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเพื่อความปลอดภัยจับมือกสท. ทีซ่าและสนช. ทดสอบระบบแล้วที่ภูเก็ตนำร่องในการเข้าช่วยเหลือเมื่อนักท่องเที่ยวประสบเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ทั้งทางบกทางทะเลในเฟสแรก
กรุงเทพฯ 4 กรกฎาคม 2562 : เอ็กซ์เซ้นส์ เปิดตัวระบบจัดการเพื่อรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว โชว์ฝีมือการพัฒนาโดยคนไทย ตอบโจทย์ความปลอดภัยนักท่องเที่ยวตามมาตรฐานความปลอดภัยทางการท่องเที่ยวตามที่ภาครัฐบาลกำหนดเผยจุดเด่นระบบสามารถปรับเปลี่ยน ประยุกต์ใช้ได้ตามความต้องการ อีกทั้ง ยังสามารถใช้งานผ่านทางเว็บและทางมือถือโดยง่าย
นางฐิติมา สุวรรณรัฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์เซ้นส์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการพัฒนาและให้บริการระบบติดตามยานพาหนะ (Vehicle Tracking) มากว่า 15 ปี โดยได้รับการรับรองผลงานฮอลออฟเฟรมของซอฟต์แวร์ปาร์ค ( Software Park Thailand’s Hall of Fram 2009) และได้รับรางวัลผลงานดีเด่นจาก
( Army Research day 2014 ) สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารบก ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่าง บริษัท เอ็กซ์เซ้นส์ฯ กสท. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สมาคมสมองกลฝังตัวไทย และบริษัทนำเที่ยวต่างๆ ภายใต้โครงการ ระบบการจัดการและรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว (Tourism Safety Support and Management System) เพื่อทดสอบการติดตามนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยภายใต้กฎระเบียบของภาครัฐ โดยบริษัท เอ็กซ์เซ้นส์ เป็นผู้พัฒนาระบบ และพร้อมเปิดตัวสู่ตลาดแล้ว
“จากเหตุการณ์นักท่องเที่ยวสูญหายเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้หลายหน่วยงานตระหนักถึงมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้จะเป็นเส้นทางหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การท่องเที่ยวระดับสากล โดยระบบการรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยวจะทำการแจ้งเตือนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ กรณีประสบเหตุอันไม่พึงประสงค์ เช่น นักท่องเที่ยวตกน้ำ อุปกรณ์ที่ติดตัว (Wristband) หรือเซนเซอร์ที่ติดไว้ในเสื้อชูชีพ จะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมและสั่งการ (Control and Command Center) เพื่อให้การช่วยเหลือในทันที”
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่บริษัท บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า “แคทได้ร่วมสนับสนุนโครงข่ายการกระจายสัญญาณบนเทคโนโลยี ลอร่าแวน (Long-Range Wide Area Network) ในการทดสอบระบบการจัดการและรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว เพื่อทดสอบการทำงานของเซ็นเซอร์ บนเรือ และเสื้อชูชีพของนักท่องเที่ยว ในกลุ่มจังหวัดพื้นที่ทะเลอันดามันได้แก่ จังหวัดกระบี่ พังงา ระนอง ตรัง สตูล และภูเก็ต โดยโครงการนำร่องนี้ เริ่มทดสอบระบบดังกล่าวแล้วที่จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก ซึ่งแคทมีความพร้อมในการให้บริการสัญญาณลอร่าแวนครอบคลุมพื้นที่สำคัญในจังหวัดท่องเที่ยว และจะให้บริการครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วทั้งประเทศเพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจ”
นายวัชระ ฉัตรวิริยะ นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย กล่าวว่า “สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (Thai Embedded Systems Association: TESA หรือทีซ่า) มีบทบาท และหน้าที่ ในการช่วยให้สมาชิกเติบโตเข้มแข็ง และแข่งขันได้ ทางทีซ่าจึงช่วยประสาน และผนึกกำลังกับภาคส่วนต่างๆ ที่ทางสมาคมฯ มีความร่วมมือทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นั้นทำได้ยาก และมีข้อจำกัด แต่หากใช้ช่องทางของสมาคม ในการไปช่วยประสาน และติดต่อให้ ก็จะช่วยลดข้อจำกัด และหาทางออกได้ เช่น การทดลอง ทดสอบ และอื่นๆ อีกทั้งช่วยให้สมาชิกได้พบปะ พูดคุย และสานต่อความร่วมมือ จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ การให้บริการ ตลอดจนโซลูชั่นต่างๆ (Products/Services/Solutions) ได้ตามเป้าหมาย และแผนที่วางไว้”
นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ :สนช. (NIA) มีกลไกในการส่งเสริม และให้การสนับสนุนผู้ประกอบการให้เติบโตเข้มแข็งในรูปแบบต่างๆ มากมาย ตลอดจนความร่วมมือในโครงการเพื่อขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้ ทั้งในรูปแบบเงินทุนสนับสนุน และช่วยในการประสานงาน เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ ระบบจัดการเพื่อรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยวดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย มีจุดเด่นด้านซอฟต์แวร์ที่สามารถปรับเปลี่ยน และประยุกต์ใช้ได้กับการติดตามรูปแบบอื่นๆ เช่น ติดตามเรือนำเที่ยว ติดตามเรือขนส่งสินค้า ตลอดจนการติดตามยานพาหนะทางบก แตกต่างจากซอฟต์แวร์ของต่างประเทศที่ไม่สามารถแก้ไขการใช้งานได้ นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นด้านความสะดวกในการใช้งาน เนื่องจากสามารถเรียกดูระบบในหลายส่วนผ่านหน้าจอเดียว หรือที่เรียกว่า Single monitor
ระบบติดตาม 3 ประสาน
การทดสอบระบบจัดการเพื่อความปลอดภัยนักท่องเที่ยวภายใต้โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย
1. ระบบระบุตำแหน่งนักท่องเที่ยว โดยมีสายรัดข้อมือหรือ Wristband และเสื้อชูชีพติดเซนเซอร์ เป็นอุปกรณ์ปลายทาง ทำหน้าที่ส่งสัญญาญไปยังศูนย์ควบคุมและสั่งการ เมื่อนักท่องเที่ยวต้องการความช่วยเหลือ
2. ระบบติดตามเรือท่องเที่ยว (Automatic Identification System) แสดงพิกัดตำแหน่งของเรือและเรือบริเวณรอบข้าง แสดงความเร็วของเรือ และระบบเข็มทิศนำทาง เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนที่ ประเมินความเสี่ยง และกิจกรรมการปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมของหน่วยงานภาครัฐ
3. ระบบติดตามรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยว (GPS Vehicle Tracking System) ทำการแสดงภาพวิดีโอ และระบบติดตามยานพาหนะแบบเรียลไทม์ แจ้งเตือนเมื่อเข้าเขตพื้นที่เสี่ยงอันตราย และแจ้งเตือนเมื่อขับขี่ด้วยความเร็วเกินกำหนด สามารถแจ้งเหตุด่วน เหตุร้าย ด้วยการแชร์จุดพิกัดภูมิศาสตร์ (GPS Location) ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาล หน่วยกู้ภัย สามารถควบคุมและป้องกัน ปราบปรามปัญหาอาชญากรรม เพื่อรักษาความความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่นักท่องเที่ยว อันจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
ระบบศูนย์ควบคุมและสั่งการ
การทำงานของระบบจัดการเพื่อความปลอดภัยจะทำการแจ้งเตือนข้อมูลต่างๆ ไปยังระบบศูนย์ควบคุมและสั่งการ (Control and Command Center) ทำให้รู้ตำแหน่งและการแจ้งเตือนเหตุการณ์ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที รู้ตำแหน่งของนักท่องเที่ยวแต่ละราย ป้องกันการสูญหายหรือพลัดหลงกับทัวร์ รวมทั้งมีระบบจอภาพแสดงผลในห้องศูนย์ปฏิบัติการอีกทั้งยังมีพยากรณ์อากาศ เพื่อตรวจตราการออกเรือท่องเที่ยวในแต่ละวัน
มีศูนย์ประสานความช่วยเหลือ ณ จุดประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลที่สำคัญ โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และล่ามภาษาต่างๆ เพื่อช่วยเหลือและประสานงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
เมื่อมีข้อมูลนักท่องเที่ยวยังสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการท่องเที่ยว เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สมบูรณ์เพื่อรองรับการท่องเที่ยวครั้งต่อไป
ชูจุดขายซอฟต์แวร์ไทยมากด้วยประสบการณ์
ด้วยความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจระบบติดตามยานพาหนะของบริษัท เอ็กซ์เซ้นส์ ที่มีประสบการณ์ยาวนาน มีลูกค้ารายใหญ่หลายราย ตัวอย่างเช่น เอสซีจี ใช้ระบบติดตามรถขนส่งสินค้าของบริษัทกว่า 5,000 คัน ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในประเทศไทย กัมพูชา และลาว เป็นเครื่องยืนยันว่าบริษัทมีระบบที่ดี และเป็นผู้นำในธุรกิจระบบติดตามรถขนส่งสินค้า โดยมีศูนย์ควบคุมและสั่งการ (Control and Command Center) ที่เป็นมาตรฐานสากล
ดังนั้น การรุกเข้าสู่ตลาดระบบจัดการเพื่อความปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยว จึงเป็นการขยายธุรกิจเข้าไปยังอุตสาหกรรมใหม่ของบริษัท โดยใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เดิมเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ให้รองรับการใช้งานที่ยืดหยุ่นตามโจทย์ความต้องการดังที่กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ ระบบยังมีฟีเจอร์ฮ็อตสปอตให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่นักท่องเที่ยวภายในเรือแม้จะอยู่กลางทะเล
ท้ายนี้ นางฐิติมา กล่าวเสริมว่า “ด้านการขยายตลาดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบริษัทเอ็กซ์เซ้นส์ มีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ได้แก่ ผู้ประกอบการท่าเรือ บริษัทนำเที่ยว ผู้ประกอบการการขนส่งนักท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางทะเล ตลอดจนหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยโซลูชันของบริษัทสามารถรองรับได้หลายสัญญาณ เช่น ลอร่า, วีเอชเอ็ม และเครือข่ายของผู้ให้บริการมือถือ”
โซลูชั่นระบบการจัดการเพื่อความปลอดภัยนักท่องเที่ยวจะช่วยยกระดับการท่องเที่ยวทั้งระบบ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบยั่งยืน
###
เกี่ยวกับเอ็กซ์เซ้นส์ฯ
บริษัท เอ็กซ์เซ้นส์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด เป็นผู้วิจัยพัฒนา และให้บริการระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าด้วย GPS ตั้งแต่ปี 2546 ก่อตั้งโดยทีมงานจากหลายแขนง ได้แก่ วิศวกรสื่อสาร การจัดการระบบขนส่ง ตลอดจนทีมพัฒนาไมโครคอนโทรลเลอร์ และทีมพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยบริษัทมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ได้รับความเชื่อถือจากหน่วยงานรัฐและเอกชนจำนวนมาก มีดาต้าเซ็นเตอร์ที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล พร้อมให้บริการแบบ One Stop Service และบริการคอลล์เซ็นเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพตลอดเวลา