บทความพิเศษ : การใช้ AI ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทย

บทบรรณาธิการ : Kent Walker, Senior Vice President, Global Affairs, Google

หลายปีก่อนผมได้ฟังการบรรยายของ Hans Rosling นักสถิติชื่อดังชาวสวีเดนที่ทำงานด้านการนำเสนอแผนภาพข้อมูล (data visualization) เขาฝันถึงแดชบอร์ดสำหรับวิกฤตทั่วโลก เขากล่าวว่า “เรามีแดชบอร์ดสำหรับรถยนต์แล้ว แต่เรายังไม่มีแดชบอร์ดสำหรับปัญหาใหญ่ๆ ที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่”

วันนี้แดชบอร์ดที่ว่านั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว เรากำลังผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิมและพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ในการประมวลผลข้อมูล เครื่องมือเหล่านี้เริ่มช่วยให้เราเข้าใจวิกฤตที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา นอกจากนี้ยังช่วยให้เราระบุรูปแบบต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อม เยียวยา หรือแม้กระทั่งป้องกันวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วย ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือวิกฤตการณ์ด้านความยั่งยืน เราอยู่ในจุดที่ AI กำลังพัฒนาความสามารถของมนุษยชาติในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามที่ Hans Rosling คิดไว้

หลายศตวรรษที่ผ่านมาผู้คนได้ใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องจัดการกับความเสี่ยงและความท้าทายไปด้วย การยืนกรานว่าการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่มีความเสี่ยงคือการปฏิเสธความก้าวหน้าของมนุษย์ ไฟฟ้าทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานได้ แต่ก็สามารถก่อให้เกิดไฟไหม้ได้เช่นกัน นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดใช้ไฟฟ้า แต่หมายความว่าเราต้องใช้มันอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น ปัญหาเกี่ยวกับ AI ที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันเทียบได้กับการที่บรรพบุรุษของเราหาวิธีใช้ไฟฟ้าหรือไฟ เราจะใช้ประโยชน์จาก AI และป้องกันผลกระทบของมันไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร?

ก่อนอื่นเราต้องมีการพัฒนา AI อย่างครอบคลุม บริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายมีหน้าที่ในการเพิ่มจำนวนพนักงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้ง Google ด้วย และพวกเขาควรเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์นวัตกรรมที่อยู่นอกองค์กรได้ใช้เครื่องมือในการสร้าง AI อย่างมีความรับผิดชอบและเป็นประโยชน์ต่อสังคม สำหรับ Google เรามี TensorFlow แมชชีนเลิร์นนิงเฟรมเวิร์กแบบโอเพนซอร์สที่ให้บริการฟรีสำหรับทุกคน

นอกจากนี้เรายังมีความมุ่งมั่นที่จะใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีด้วยความรับผิดชอบ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทีมงานของเราได้เน้นย้ำถึงความรับผิดชอบนี้ต้องมาก่อนการพัฒนา AI และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ เราต้องการที่จะสร้างกฎบัตรจริยธรรมเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีภายในองค์กร และแบ่งปันค่านิยมของเราสู่สังคม ในปีนี้เราได้ประกาศหลักการในการพัฒนา AI ซึ่งเป็นกฎบัตรจริยธรรมสำหรับการพัฒนา AI และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ ของ Google

หลักการเหล่านี้เป็นแนวทางในการตัดสินใจของเราเกี่ยวกับประเภทของฟีเจอร์ที่เราควรต้องสร้างและการค้นคว้าวิจัยต่างๆ ที่เราควรต้องดำเนินการ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าอาจมีประโยชน์เช่นเดียวกับเทคโนโลยีและเครื่องมืออํานวยความสะดวกใหม่ๆ ที่ช่วยตามหาคนหาย รวมทั้งแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่นำไปใช้ได้หลายด้าน เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยเช่นกัน เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้งานเป็นไปตามหลักการและค่านิยมขององค์กรของเรา และเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลกระทบในเชิงลบ เรายังได้ร่วมมือกับองค์ต่างๆ เพื่อ

ระบุและแจกแจงความท้าทายเหล่านี้ ที่ Google เราได้พิจารณาข้อสงสัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนโยบายที่สำคัญต่างๆ ก่อนที่จะอนุญาตให้ใช้ API สำหรับการจดจำใบหน้าบน Google Cloud 

หลักการในการพัฒนา AI ประการแรกของเราคือเทคโนโลยีที่เรากำลังพัฒนาอยู่จะต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคม ปัจจุบัน AI ได้ผนวกรวมเข้ากับแอปพลิเคชันและบริการต่างๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก เช่น แอปพลิเคชัน Google Translate ที่ช่วยให้ผู้จากหลากหลายภาษาสามารถสื่อสารกันได้ แต่นอกเหนือจากการทำให้ชีวิตง่ายและสะดวกสบายขึ้นแล้ว AI ยังสามารถใช้ในการแก้ปัญหาใหญ่ๆ ได้ด้วย ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการนำเทคโนโลยีของเราไปใช้ให้เกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น การพยากรณ์น้ำท่วมในอินเดีย การอนุรักษ์ประชากรนกที่ใกล้สูญพันธุ์ในนิวซีแลนด์ และการต่อต้านการประมงที่ผิดกฎหมายในประเทศอินโดนีเซีย

เราตระหนักดีว่ามีความคิดที่ยอดเยี่ยมมากมายที่ไม่ได้รับการต่อยอดให้เกิดประโยชน์ขึ้นจริงเนื่องจากขาดทรัพยากรที่จำเป็น ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เปิดตัวโครงการ Google AI Challenge Impact ที่เปิดโอกาสให้องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร องค์กรทางสังคม และสถาบันการวิจัยทั่วโลก ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ AI ในการแก้ไขปัญหาความท้าทายต่างๆ ในสังคม เราจะช่วยเปลี่ยนแนวคิดที่ดีที่สุดให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วยการให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ของ Google พร้อมด้วยเงินทุนสนับสนุนจำนวน 25 ล้านเหรียญสหรัฐจาก Google.org 

การพัฒนา AI จำเป็นต้องมีผู้ที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ นักพัฒนา หรือนักวิจัย เข้ามามีส่วนร่วมด้วย การพัฒนา AI ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมหมายถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมในการนิยามความหมายของสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ความร่วมมือของรัฐบาลมีความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากบทบาทสำคัญของรัฐในการจัดหาสินค้าสาธารณะและการควบคุมอุตสาหกรรมต่างๆ

สำหรับในประเทศไทยเรากำลังเริ่มโครงการที่น่าตื่นเต้นในการใช้ AI เพื่อป้องกันภาวะตาบอดในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 5 ล้านคน และ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดมีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (diabetic retinopathy) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้ตาบอดถาวรได้ แต่ในประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตาเพียง 1,400 คนเท่านั้น เพื่อช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้สามารถช่วยผู้ป่วยจากการสูญเสียการมองเห็นได้มากขึ้น เราได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลราชวิถี สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการนำร่องที่ใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจหาภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถคัดกรองผู้ป่วยได้มากขึ้นโดยใช้เวลาน้อยลง  

ประการสุดท้าย เราจำเป็นต้องมีกรอบการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนา AI จะต้องอยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแลที่เปิดโอกาสให้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีมีการเติบโต ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการพัฒนาที่มีความรับผิดชอบและการประยุกต์ใช้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม เพื่อแก้ไขปัญหาความกังวลทั้งหมดในสังคม กรอบการกำกับดูแลเหล่านี้ต้องเกิดจากกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคอุตสาหกรรม

แม้ว่าหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนากรอบการกำกับดูแลการพัฒนา AI แต่หากมองระดับภูมิภาค เอเชียแปซิฟิกยังขาดกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างสม่ำเสมอในการพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นนี้ อีกหนึ่งการดำเนินงานของเราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือกับ UNESCAP คือการมอบเงินทุนสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการวิจัยด้าน AI เพื่อประโยชน์ต่อสังคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific AI for Social Good Research Network) เครือข่ายนี้จะนำนักวิชาการชั้นนำจากสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก (Association of Pacific Rim Universities) มารวมตัวกันเพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้ AI เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และสร้างกรอบการกำกับดูแล นอกจากนี้ยังจะเป็นเวทีสำหรับนักวิจัยเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ กับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน

เราหวังว่าเครือข่ายการวิจัยด้าน AI เพื่อประโยชน์ต่อสังคมนี้จะกลายเป็นระบบนิเวศที่มีความร่วมมือกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาคเอเชียแปซิกเพื่อพิจารณาว่าจะนำ AI มาใช้อย่างไร ประเด็นที่ว่า AI จะได้รับการพัฒนาและนำไปใช้อย่างไรเป็นเรื่องที่สำคัญมากเกินกว่าที่จะปล่อยให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนแล้วว่าเราจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะพัฒนาเทคโนโลยี AI อย่างมีความรับผิดชอบ ลดความเสี่ยงในการใช้งานที่ไม่เหมาะสม และใช้ประโยชน์จากศักยภาพของมันได้อย่างไร

###

About naruethai

Check Also

Facebook อัปเดตฟีเจอร์ ช่วยให้ผู้ใช้ควบคุมสิ่งที่แชร์และค้นพบบนแพลตฟอร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

วันนี้ Facebook แนะนำเครื่องมือที่ปรับปุงใหม่เพื่อช่วยให้คุณควบคุมสิ่งที่แชร์ไปยังฟีดข่าวได้มากขึ้น โดยผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าใครสามารถแสดงความคิดเห็นในโพสต์สาธารณะของคุณได้บ้าง ซึ่งคุณสามารถควบคุมกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาแสดงความคิดเห็นสำหรับโพสต์สาธารณะของคุณได้แล้ว โดยเลือกจากเมนูที่มีให้ ซึ่งสามารถเลือกได้ตั้งแต่ทุกคนที่เห็นโพสต์ไปจนถึงเลือกเฉพาะบุคคลและเพจที่คุณแท็ก

เอชพี พลิกโฉมประสบการณ์ลูกค้า เปิดโชว์รูมเสมือนจริงแห่งแรกในประเทศไทย

นำเสนอนวัตกรรมพีซีและพรินเตอร์ล้ำสมัย ผ่านประสบการณ์โต้ตอบแบบอินเทอร์แอคทีฟ เอชพี อิงค์ เผยโฉม HP virtual showroom โชว์รูมเสมือนจริงแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้กับลูกค้า ครอบคลุม 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะนำลูกค้าเข้าสู่โลกเสมือนจริงที่ทันสมัย สัมผัสประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีที่หลากหลายตามความต้องการใช้งานที่แตกต่าง

Sahifa Theme License is not validated, Go to the theme options page to validate the license, You need a single license for each domain name.