คาดบริการวิดีโอออนดีมานด์ลงทุนเอเชียหมื่นล้านเหรียญภายในปี 2565

ความต้องการคอนเทนต์ท้องถิ่นดันการลงทุนด้านสื่อและการผลิตสื่อในเอเชีย

กรุงเทพฯ, 30 ตุลาคม 2561 – แอลฟาบีตา (AlphaBeta) บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และเศรษฐศาสตร์ เผยแพร่รายงานการศึกษาหัวข้อ เอเชีย ออน ดีมานด์: การเติบโตของการลงทุนในอุตสาหกรรมบันเทิงท้องถิ่นโดยผู้ให้บริการวิดีโอออนดีมานด์ (Asia-On-Demand: The Growth of Video-on-demand Investment in Local Entertainment Industries) ระบุการคาดการณ์ว่าบริการวิดีโดออนดีมานด์ (VOD) จะลงทุนในเอเชียสูงถึง 10.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปีพ.ศ. 2565  หรือเพิ่มขึ้น 3.7 เท่าจากปีพ.ศ. 2560 การศึกษาดังกล่าวยังพบอีกว่าผู้บริโภคชาวเอเชียที่ใช้บริการ VOD มีความต้องการคอนเทนต์ท้องถิ่นอย่างมาก จึงส่งผลโดยตรงให้ผู้ให้บริการมุ่งพัฒนาคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องเหมาะสมกับท้องถิ่นมากขึ้น

ในงบประมาณการลงทุนดังกล่าว คาดว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยผู้ให้บริการระดับโลกเป็นมูลค่าประมาณ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะสร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจมากกว่า 3 เท่าของมูลค่าการลงทุนโดยผู้ให้บริการ VOD โดยเฉพาะเมื่อพิจารณา การใช้จ่ายทางตรง ภายในอุตสาหกรรมสำหรับกิจกรรมการดำเนินงานหลักๆ เช่น อุปกรณ์ การคมนาคมขนส่ง อาหารและการจัดเลี้ยง การตลาด และที่พัก เป็นต้น ซึ่งจะผลักดันให้เกิด การใช้จ่ายทางอ้อม โดยซัพพลายเออร์ เช่น การซื้อเลนส์กล้องถ่ายภาพ อาหารและการจัดเลี้ยง การคมนาคมขนส่ง ค่าเชื้อเพลิง และอื่นๆ รวมถึงเกิด การใช้จ่ายที่ขึ้นอยู่กับรายได้ โดยพนักงานหรือคนงานที่มีการใช้จ่ายเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้งบประมาณการลงทุนดังกล่าวยังอาจสร้างตำแหน่งงานใหม่ขึ้นกว่า 736,000 ตำแหน่งภายในปีพ.ศ. 2565 ทั้งยังเอื้อประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว ดนตรี และสินค้าที่ระลึก เป็นต้น    

ขณะเดียวกัน การศึกษาดังกล่าวยังคาดว่าจำนวนผู้ใช้บริการที่จ่ายเงินเป็นสมาชิกในภูมิภาคเอเชียจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายใน 5 ปี และผู้ชมในเอเชียมีความต้องการคอนเทนต์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ผู้ให้บริการ VOD จึงจำเป็นต้องจัดหาคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องและเหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นมากขึ้น จนผลักดันการลงทุนด้านการพัฒนาคุณภาพของคอนเทนต์ท้องถิ่นเพื่อดึงดูดสมาชิกรายใหม่และรักษาฐานจำนวนสมาชิกเดิม 

นายคอนสแตนติน แมตตีส์ ผู้จัดการด้านเอ็นเกจเมนต์ ของแอลฟาบีตา กล่าวว่า “เนื่องจากบริการ VOD เพิ่งเริ่มมีมาเมื่อไม่นาน ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากบริการ VOD ในเอเชีย โดยเฉพาะที่มีต่ออุตสาหกรรมบันเทิงจึงยังได้รับความสนใจอยู่ในวงจำกัด การศึกษานี้ต้องการปิดช่องว่างทางข้อมูลดังกล่าวโดยการนำเสนอข้อเท็จจริงอันมีพื้นฐานจากศักยภาพในการสร้างคุณค่าของอุตสาหกรรมนี้ รายงานการศึกษาดังกล่าวยังระบุถึงแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด ควบคู่กับข้อปฏิบัติเชิงนโยบายหลักๆ เพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียสามารถสร้างประโยชน์จากโอกาสนี้”

“สืบเนื่องจากกการเติบโตของอุตสหกรรม VOD ในเอเชีย ความต้องการคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นจะผลักดันการใช้จ่ายด้านการลงทุนสร้างสื่อบันเทิงในภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งตรงกันข้ามกับความเข้าใจว่า VOD คือช่องทางเข้าถึงสื่อบันเทิงจากต่างประเทศอย่างง่ายดาย เช่น ฮอลลิวูด จึงกระทบต่อความต้องการคอนเทนต์ท้องถิ่นและลดเลือนค่านิยมทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งนี้เมื่อผู้บริโภคมีความต้องการคอนเทนต์ท้องถิ่นอย่างล้นหลาม ผู้ให้บริการ VOD จึงต้องเพิ่มจำนวนคอนเทนต์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพสูง เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว” นายคอนสแตนติน กล่าวเสริม 

รายงานการศึกษานี้ ค้นพบข้อมูลสำคัญ 7 เรื่อง ได้แก่:

  1. คาดว่าการลงทุนในเอเชียโดยบริการวิดีโอออนดีมานด์ (VOD) จะสูงถึง 10.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปีพ.ศ. 2565 ผู้ให้บริการ VOD มีการใช้จ่ายทั่วโลกราว 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา โดยการใช้จ่ายในเอเชียมีมูลค่าเพียงประมาณ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งงบประมาณการใช้จ่ายในเอเชียสามารถเพิ่มขึ้น 3.7 เท่าได้ภายในปีพ.ศ. 2565  โดยงบประมาณดังกล่าวประมาณ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จะเป็นการลงทุนทางตรงโดยผู้ให้บริการ VOD ระดับโลก
  2. ความต้องการคอนเทนต์ท้องถิ่นจะผลักดันการลงทุน โดยเน้นด้านคุณภาพมากกว่าด้านปริมาณ ตรงข้ามกับความเชื่อทั่วไป การศึกษาครั้งนี้พบว่าผู้ชมในเอเชียมีความต้องการรับชมคอนเทนต์ท้องถิ่นอย่างมาก และใช้เวลารับชมคอนเทนต์ท้องถิ่นเท่าๆ กับการรับชมคอนเทนต์จากต่างประเทศ ทั้งนี้คาดว่าผู้ชมที่จ่ายเงินค่าสมาชิกในเอเชียจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในระยะเวลา 5 ปี ดังนั้นผู้ให้บริการ VOD จึงต้องให้ความสำคัญกับการผลิตคอนเทนต์ท้องถิ่นคุณภาพสูงเพื่อดึงดูดสมาชิกใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิม
  3. VOD ช่วยให้อุตสาหกรรมบันเทิงเอเชียเข้าถึงผู้ชมกว่า 450 ล้านคนทั่วโลกได้ง่ายดายยิ่งขึ้น บริการ VOD ช่วยเผยแพร่คอนเทนต์จากเอเชียไปยังกลุ่มผู้ชมที่อยู่ต่างประเทศในวงกว้างยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ซีรีส์เรื่อง เซเคร็ด เกมส์ (Sacred Game) จากอินเดียที่มีการรับชมออนไลน์จากมากกว่า 190 ประเทศ จึงเป็นโอกาสในการส่งออกอิทธิพลและความต้องการด้านวัฒนธรรมเอเชีย เช่น การท่องเที่ยว เป็นต้น
  4. ประมาณการณ์ว่าการลงทุนด้านคอนเทนต์โดยผู้ให้บริการ VOD จะมีแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจมากกว่า 3 เท่าของเม็ดเงินลงทุน การใช้จ่ายทางตรงภายในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการดำเนินงานหลักๆ เช่น อุปกรณ์ คมนาคมขนส่ง อาหารและการจัดเลี้ยง การตลาด ที่พัก และอื่นๆ จะผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายทางอ้อม โดยซัพพลายเออร์ เช่น ค่าเลนส์ถ่ายภาพ อาหารและการจัดเลี้ยง ค่าเชื้อเพลิง เป็นต้น และ การใช้จ่ายที่ขึ้นอยู่กับรายได้ โดยพนักงานหรือคนงานที่มีการใช้จ่ายเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้การใช้จ่ายดังกล่าวยังอาจก่อให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ขึ้นถึง 736,000 ตำแหน่งภายในปี พ.ศ. 2565 และท้ายที่สุดคือ การเอื้อประโยชน์ ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว ดนตรี และสินค้าที่ระลึก เป็นต้น
  5. ประโยชน์เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่มีต่ออุตสาหกรรมบันเทิงท้องถิ่น อาจมาในรูปของการสนับสนุนทางการเงินให้แก่ศูนย์กลางการผลิต การยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน การจัดจำหน่ายที่ถูกลง และความร่วมมือระดับโลก

คุณประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่ผู้ให้บริการ VOD นำมาสู่อุตสาหกรรมบันเทิงท้องถิ่นนั้นไม่ได้มีเฉพาะการใช้จ่ายด้านคอนเทนต์เท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างทักษะต่างๆ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ผู้ให้บริการ VOD ยังเป็นคนกลางในการแนะนำผู้ให้บริการระดับท้องถิ่นและผู้ให้บริการระดับสากลให้มารู้จักและร่วมมือกัน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มความน่าสนใจในระดับนานาชาติให้แก่คอนเทนต์ท้องถิ่น เช่นเดียวกับการถ่ายทอดองค์ความรู้

  1. ประเทศต่างๆ ในเอเชียมีโอกาสนำความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและสร้างสรรค์คุณค่าจากการผลิตคอนเทนต์ในส่วนต่างๆ กันในห่วงโซ่คุณค่า เช่น ด้านเทคนิคพิเศษด้านภาพ หรือการเป็นศูนย์กลางการผลิตคอนเทนต์ เป็นต้น การผลิตคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงเติบโตขึ้นทั่วโลก โดยผลงานหลายเรื่องได้ออกสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกมากขึ้น เช่น ภาพยนตร์เรื่อง เครซี่ ริช เอเชี่ยนส์ (Crazy Rich Asians) เป็นต้น นำมาซึ่งโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับประเทศต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแต่ละส่วนของห่วงโซ่คุณค่า เช่น มาเลเซียและไทยมีสตูดิโอตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือระดับโลกและมีการให้สิทธิพิเศษที่ดีในการดึงดูดผู้ผลิตคอนเทนต์จากต่างชาติ ในขณะที่สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านเทคนิคพิเศษด้านภาพและแอนิเมชัน
  2. มากกว่า 80% ของผู้บริหารบริการ VOD ระบุว่าบรรยากาศการลงทุนที่เป็นมิตร กฎระเบียบข้อบังคับอันเอื้อต่อการทำธุรกิจ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิตคอนเทนต์คุณภาพสูง คือปัจจัยสำคัญในการผลักดันการลงทุนด้านคอนเทนต์

การปฏิรูปนโยบายจะสามารถสร้าง “วงจรประเสริฐ” ที่นำไปสู่การผลักดันการลงทุนด้านคอนเทนต์คุณภาพสูง ซึ่งจะเพิ่มอุปสงค์ด้านคอนเทนต์ และดึงดูดการลงทุนอื่นๆ ตามมา ทั้งนี้ตลาดเอเชียที่เติบโตขึ้นนี้กำลังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่างๆ โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้ผลักดันนโยบายแทนที่จะมุ่งไปที่นโยบายที่ไม่ส่งเสริมผลิตภาพ เช่น การให้โควต้าคอนเทนต์ท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลเชิงลบอย่างต่อเนื่องในด้านคุณภาพและอุปสงค์ในตลาด

รายงานการศึกษาดังกล่าวยังระบุถึงข้อเสนอแนะต่างๆ สำหรับผู้กำหนดนโยบายในเอเชีย เพื่อรับประโยชน์อย่างเต็มที่จากอุตสาหกรรมบริการ VOD ในแง่ของการเป็นหนทางสู่นวัตกรรมและการลงทุน ได้แก่

  • ใช้แนวทางการทำงานร่วมกันกับผู้ให้บริการ VOD ประโยชน์ที่ผู้ให้บริการ VOD นำมาสู่ตลาดไม่ได้มีเพียงการใช้จ่ายด้านคอนเทนต์ท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังมีในแง่ของการเข้าสู่ตลาดสากล ความสามารถในการสร้างและเป็นพันธมิตรร่วมค้า ซึ่งจำเป็นที่จะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ให้บริการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จากหลายๆ ตัวอย่างในประเทศอื่นๆ เช่น ไต้หวัน ที่จัดตั้งกลุ่มทำงานร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการ VOD และตัวแทนจากอุตสาหกรรมท้องถิ่นเพื่ออภิปรายประเด็นสำคัญต่างๆ และแนวทางในการแก้ไข 
  • การสร้างแนวทางการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น บางประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเอเชียได้สร้างภาคดิจิทัลที่เฟื่องฟูได้ด้วยการสร้างกฎระเบียบที่เรียบง่าย สำหรับบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรม VDO ทั้งนี้การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรม VOD จึงสำคัญที่จะไม่สร้างกฎระเบียบข้อบังคับที่อาจล้าหลังได้อย่างรวดเร็วหรือไม่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรม ซึ่งหนึ่งในกับดักสำคัญคือการหลีกเลี่ยงการนำกฎระเบียบที่ใช้กับอุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์แบบดั้งเดิมมาใช้กับบริการ VOD เช่น การกำหนดโควต้าให้คอนเทนต์ท้องถิ่น เป็นต้น
  • การลงทุนในระบบนิเวศน์ท้องถิ่น มีโอกาสอย่างกว้างขวางสำหรับผู้กำหนดนโยบายที่จะสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศน์สำหรับอุตาหกรรมบันเทิงท้องถิ่น ที่ผู้ให้บริการ VOD สามารถมีส่วนร่วมได้ ตั้งแต่โปรแกรมการฝึกอบรม ไปจนถึงการจัดเทศกาลภาพยนตร์ และการลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ระดับโลก    

สามารถดาวน์โหลดรายงานการศึกษาฉบับเต็มได้ที่ www.alphabeta.com/our-research/asia-on-demand

###

About naruethai

Check Also

Facebook อัปเดตฟีเจอร์ ช่วยให้ผู้ใช้ควบคุมสิ่งที่แชร์และค้นพบบนแพลตฟอร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

วันนี้ Facebook แนะนำเครื่องมือที่ปรับปุงใหม่เพื่อช่วยให้คุณควบคุมสิ่งที่แชร์ไปยังฟีดข่าวได้มากขึ้น โดยผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าใครสามารถแสดงความคิดเห็นในโพสต์สาธารณะของคุณได้บ้าง ซึ่งคุณสามารถควบคุมกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาแสดงความคิดเห็นสำหรับโพสต์สาธารณะของคุณได้แล้ว โดยเลือกจากเมนูที่มีให้ ซึ่งสามารถเลือกได้ตั้งแต่ทุกคนที่เห็นโพสต์ไปจนถึงเลือกเฉพาะบุคคลและเพจที่คุณแท็ก

เอชพี พลิกโฉมประสบการณ์ลูกค้า เปิดโชว์รูมเสมือนจริงแห่งแรกในประเทศไทย

นำเสนอนวัตกรรมพีซีและพรินเตอร์ล้ำสมัย ผ่านประสบการณ์โต้ตอบแบบอินเทอร์แอคทีฟ เอชพี อิงค์ เผยโฉม HP virtual showroom โชว์รูมเสมือนจริงแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้กับลูกค้า ครอบคลุม 6 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะนำลูกค้าเข้าสู่โลกเสมือนจริงที่ทันสมัย สัมผัสประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีที่หลากหลายตามความต้องการใช้งานที่แตกต่าง