“เทรนด์ไมโคร” แนะองค์กรยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ เหตุ Ransomeware สายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นหลังโควิด-19

บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำระดับโลกด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้จัดงาน “Thailand Cybersecurity Virtual Forum กลยุทธ์และแนวทางสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์เพื่อยกระดับองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเชิญผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นแนวหน้าของประเทศไทย ได้แก่ นายแพทย์พลวรรธน์ วิทูรทลชิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานเทคโนโลยี ธนาคารกรุงไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้เป็นผู้ผลักดันการพัฒนาแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ดร.ยุทธศาสตร์ นิธิไพจิตร ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจคลาวด์และบิ๊กดาต้า บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และคุณปิยธิดา ตันตระกูล ผู้จัดการเทรนด์ไมโครประจำประเทศไทย มาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ในประเด็นการพัฒนาและรักษาความปลอดภัยระบบสารสนเทศขององค์กร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามบนโลกดิจิทัล โดยมีคุณสุทธิชัย หยุ่น รับหน้าที่ดำเนินรายการ

คุณปิยธิดา กล่าวว่า Cybersecurity หรือความปลอดภัยทางไซเบอร์เข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น เพราะนับตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายองค์กรได้พลิกรูปแบบการทำงานทั้งหมดสู่ระบบออนไลน์และคลาวด์ ส่งผลให้ความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ผลสำรวจของเทรนด์ไมโครพบว่า Ransomware ยังคงมีอยู่ และมีสายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 45% โดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทหรือองค์กรเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการโจมตีทางไซเบอร์มากที่สุด 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายองค์กรปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน รวมไปถึงการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น ทำให้ Cybersecurity เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และใกล้ตัวทุกคนมากขึ้น เพราะภัยคุกคามทางไซเบอร์ปรากฎในหลายรูปแบบและสามารถแพร่กระจายได้ไม่ต่างจากไวรัส ดังนั้น ทุกองค์กรจึงจำเป็นต้องตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภันทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือขององค์กร อันเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้

นายแพทย์พลวรรธน์ วิทูรทลชิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานเทคโนโลยี ธนาคารกรุงไทย ได้เน้นย้ำว่า ทุกองค์กรจะต้องเร่งยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ โรงพยาบาล ธนาคาร และโทรคมนาคม จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามอย่างเข้มงวด เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยมีการตรวจสอบ ประเมินความเสี่ยง และปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่บังคับใช้ไปเมื่อปี 2562 รวมถึงพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคต ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรจะต้องทำความเข้าใจและให้ความสำคัญ เพื่อกำหนดนโยบายของบริษัทให้สอดรับกับข้อกำหนดทางกฎหมายกับ ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่ของการสร้างความมั่นคงให้องค์กร อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกหน่วยงานสามารถรับมือกับสถานการณ์เบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง  

ด้าน ดร.ยุทธศาสตร์ นิธิไพจิตร ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจคลาวด์และบิ๊กดาต้า บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ได้แสดงทัศนะว่า การจัดทำ Business Continuity Plan (BCP) หรือแผนการรับมือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ธุรกิจอาจต้องหยุดชะงักลงอย่างไม่คาดฝันนั้น ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่องค์กรยุคใหม่จะต้องลุกขึ้นมาลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยองค์กรอาจจะจำลองสถานการณ์เพื่อซักซ้อมหาแนวทางรับมือสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ต่างไปจากการซ้อมหนีไฟประจำปี

ที่สำคัญที่สุด องค์กรจะต้องสร้างความตระหนักรู้ และทำให้พนักงานทุกคนเห็นภาพตรงกันว่า ประเด็นความปลอดภัยทางข้อมูลเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน โดยไม่จำกัดว่าเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายไอทีเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่จะต้องมีวิสัยทัศน์และทำความเข้าใจในจุดนี้อย่างจริงจัง เพราะ Cybersecurity เป็นเรื่องของความเข้มแข็งขององค์กร เป็นภาพสะท้อนของธุรกิจ และเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวต่อไปได้อย่างราบรื่น มั่นคง

คุณปิยธิดา ได้เสริมว่า นอกจากการป้องกันปัญหาแล้ว การมี Visibility หรือ การมองเห็นภาพรวมของระบบอย่างครอบคลุม จะช่วยให้องค์กรมองเห็นปัญหาจากภาพใหญ่และสามารถระบุภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง รวมถึงนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์และบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้การยับยั้งความเสียหายสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ ทางเทรนด์ไมโคร มีบริการตรวจเช็คสุขภาพ และให้คำปรึกษาด้านระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้แก่องค์กรต่างๆ  โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ  รวมทั้งการจัดการเสวนา Exclusive Forum ต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้องค์กรและบริษัทในไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมั่นใจ

###

About naruethai

Check Also

แคสเปอร์สกี้เผยสถิติปี 2020 พบไฟล์อันตรายเกิดใหม่เฉลี่ยวันละ 360,000 ไฟล์ เพิ่มขึ้น 5.2% จากปีก่อน

ในปี 2020 แคสเปอร์สกี้ตรวจพบไฟล์อันตรายเกิดใหม่เฉลี่ยแล้ววันละ 360,000 ไฟล์ คิดเป็นเพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สาเหตุน่าจะมาจากการเติบโตขึ้นอย่างมากของโทรจัน (ไฟล์ตัวร้ายที่ก่ออันตรายได้มากมายหลายอย่าง รวมทั้งลบหรือแอบจารกรรมข้อมูลด้วย) และแบ็คดอร์ (โทรจันประเภทหนึ่งที่ผู้ก่อการร้ายสามารถเข้ามายึดควบคุมเครื่องของเหยื่อ) คิดเป็นอัตราเพิ่ม 40.5% …

ลาซารัสยังไม่หยุด! แคสเปอร์สกี้เผยเหตุการณ์โจมตีสองรายการเชื่อมโยงงานวิจัยวัคซีนสกัดโรคระบาด

ช่วงปลายปี 2020 นักวิจัยของแคสเปอร์สกี้ระบุพบความเคลื่อนไหวของ APT จำนวน 2 รายการที่มีเป้าหมายเป็นงานค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับ COVID-19 หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และบริษัทธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งทีมผู้เชี่ยวชาญของแคสเปอร์สกี้ประเมินว่าต้องมีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มลาซารัส (Lazarus) อันอื้อฉาวอย่างแน่นอน