
กรุงเทพฯ, 11 มิถุนายน 2562 – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) ร่วมกับ ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน แถลงผลการศึกษาการคาดการณ์เทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทย (Thailand Digital Technology Foresight) ในระยะ 5 ปี 10 ปี และ 15 ปี เพื่อให้สะท้อนโอกาสและความเป็นไปได้ของการส่งเสริมการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์
การศึกษาดังกล่าวได้กำหนดโรดแมปของเทคโนโลยีดิจิทัล (Technology Roadmap) สำหรับประเทศไทยที่ควรมุ่งเน้น อันประกอบด้วย 7 เทคโนโลยีทั้งหมดด้วยกัน ดังนี้
- อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things)
- ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)
- การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)
- โทรคมนาคมยุคใหม่ (Next Generation Telecom)
- เทคโนโลยีการกระจายข้อมูลบัญชี (Distributed Ledger Technology or Blockchain)
- การประมวลผลควอนตัม (Quantum Computing)
- ระบบอัตโนมัติ (Automation)
โดยที่ในระยะเร่งด่วน ใน 5 ปีแรก (พ.ศ.2563 – 2568) ประเทศไทยควรมุ่งเน้น 6 เทคโนโลยี ได้แก่
- อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things) ในภาคการการขนส่ง การสื่อสารและโทรคมนาคม การเกษตร การผลิต ยานยนต์ และสาธารณสุข
- การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ในภาคการเงินการธนาคาร การขนส่ง การสื่อสารและโทรคมนาคม การผลิต การค้าและบริการ การท่องเที่ยว/ โรงแรม และสาธารณสุข
- ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในภาคการเงินการธนาคาร อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ภาคการค้าและบริการ ภาคสาธารณสุข ไปจนถึง ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์
- ระบบอัตโนมัติ (Automation) ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง และอุตสาหกรรมยานยนต์
- โทรคมนาคมยุคใหม่ (Next Generation Telecom) หรือ 5G ในภาคการเงินการธนาคาร การสื่อสารและโทรคมนาคม อุตสาหกรรมพลังงาน ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์
- เทคโนโลยีการกระจายข้อมูลบัญชี (Distributed Ledger Technology or Blockchain) ในภาคการเงินการธนาคาร ภาคสาธารณสุข และภาคการค้าปลีก
โดยที่ในระยะกลาง 10 ปี และระยะยาว 15 ปี ยังคงมุ่งเน้น 6 เทคโนโลยี ซึ่งเหมือนกับในระยะเร่งด่วน (แต่เป็นเทคโนโลยีที่ฉลาดขึ้น) และต้องมุ่งเน้นเทคโนโลยีที่ 7 เพิ่มเติม ได้แก่การประมวลผลควอนตัม (Quantum Computing) ในภาคการเงินการธนาคาร ภาคการสื่อสารและโทรคมนาคม และภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยในระยะยาวนี้ เทคโนโลยีโทรคมนาคมยุคใหม่ (Next Generation Telecom) จะเข้าสู่ยุค 6G ด้วย
นอกจากนี้ การศึกษายังได้เสนอแนะสิ่งที่ประเทศไทยควรต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนในหลายเรื่องสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย 3-4 เรื่องที่ต้องทำวันนี้ ดังนี้
1. เร่งพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจไทยในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ (นอกเหนือจาก ภาคการเงินการธนาคาร และภาคการสื่อสารและโทรคมนาคม เนื่องจากทั้ง 2 ภาคนี้นั้นได้รับการมุ่งเน้นการพัฒนาที่มากในระดับหนึ่งแล้ว) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคการเกษตร ภาคการผลิต ภาคการบริการ เช่นท่องเที่ยวและสาธารณสุข
2. อุดช่องว่างเรื่องบุคลากรดิจิทัลที่ขาดแคลนด้วยการการดึงผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเทคโนโลยีจากต่างประเทศในระยะเร่งด่วน (เช่น Smart VISA และ Tax Incentive Program) และร่วมมือกับบริษัทเอกชนโดยเฉพาะรายใหญ่จากต่างประเทศ และมหาวิทยาลัย/ วิทยาลัยทั้งใน ในการทำโครงการพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญขนาดใหญ่ (Large-Scale Project)สำหรับเทคโนโลยีทั้ง 7 ด้านนี้
3. เร่งตั้งศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยี (Center of Technology Excellence) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีทั้ง 7 ด้านภายในประเทศให้ประสบผลสำเร็จในระยะยาว โดยพัฒนาต่อยอดจาก IoT and Digital Innovation Institute ที่ ดีป้า ได้ริเริ่มจัดตั้งขึ้นอยู่ก่อนแล้วในระยะแรก
4. สร้างแพลตฟอร์มความรู้ และสร้างความตระหนักผ่านงานประชุมสัมมนา อย่างต่อเนื่อง เช่น งานส่งเสริมเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ, งานเสวนาส่งเสริมการปรับตัวของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME), งานสร้างแรงบันดาลใจสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Start-up) และสร้างเวทีเพื่อนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมของบริษัทใหม่ๆที่ได้พัฒนาเช้าสู่ตลาด ตลอดจนจัดงานการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเปิดโอกาสให้วิสาหกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กเพื่อนำเสนอแนวความคิดใหม่ๆ รวมถึงจับคู่ธุรกิจ
ส่วนในระยะยาวผลการศึกษานี้ ได้เสนอแนะให้ ประเทศไทยมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี ไปสู่ Deep Technology รวมถึงยกระดับ SMEs และ Startups ไทยไประดับภูมิภาคและระดับโลก พร้อมเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมดิจิทัลแห่งใหม่ของภูมิภาคด้วย
###