Facebook เปิดตัวโครงการ “We Think Digital” ในประเทศไทย เสริมทักษะเท่าทันโลกออนไลน์ มุ่งสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบ

  • โครงการส่งเสริมความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีของ Facebook เพื่อสร้างชุมชนพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบระดับโลก
  • Facebook ทำงานร่วมกับคณะที่ปรึกษาซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย รวมถึงนักวิชาการ ผู้นำเยาวชน และผู้อำนวยการขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยต่างๆ เพื่อพัฒนาหลักสูตรสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ
จากซ้ายไปขวา – มิสเอมี่ คอลลินส์ ผู้จัดการโครงการอาวุโส Love Frankie นางสาวกุลธิดา ยาชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และผู้นำกลุ่ม Young Moves มร. ไซมอน มิลเนอร์ รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Facebook ดร. ไกรเสริม โตทับเที่ยง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางสาวชนัญญา คุณวัฒนการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ Facebook ประเทศไทย นางสาวปิยะวดี พงศ์ไทย ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ คุณจอห์น ดาซิลวา ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรและสื่อสาร มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย

Facebook Thailand ประกาศเปิดตัวโครงการ We Think Digital Thailand อย่างเป็นทางการ โครงการส่งเสริมการพัฒนาความรู้ความเข้าใจและทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้คนไทยได้พัฒนาความรู้ความเข้าใจและทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงทักษะการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างชุมชนดิจิทัลที่ปลอดภัยและมีความสร้างสรรค์ในเชิงบวก

โครงการ We Think Digital Thailand เกิดจากการนำโครงการ ‘We Think Digital’ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาความรู้ความเข้าใจและทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับโลกที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ของ Facebook มาปรับใช้ให้เข้ากับประเทศไทย พร้อมนำเสนอทรัพยากรต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนเกิดการคิดเชิงวิเคราะห์และแชร์ความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างรอบคอบ โดย Facebook ตั้งเป้าในการฝึกอบรมผู้คนจำนวน 2 ล้านคน จาก 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคภายในปี พ.ศ.2563 และนำเสนอทรัพยากรการเรียนรู้ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ต้องการจะเรียนรู้เพิ่มเติมหรือพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลของตนเอง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมือใหม่หรือเป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นชาวดิจิทัลโดยกำเนิด (digital native) ทั้งนี้ Facebook ได้พัฒนาโครงการในประเทศไทยผ่านการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะที่ปรึกษาของโครงการ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสาขาที่หลากหลาย เช่น การสื่อสารมวลชน สุขภาวะของเด็ก และการศึกษา เป็นต้น

โครงการ We Think Digital Thailand ของ Facebook นำเสนอหลักสูตรและทรัพยากรด้านการเรียนรู้เป็นภาษาไทย ครอบคลุมหัวข้อหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรู้ความเข้าใจและทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของผู้ใช้ ความปลอดภัยของข้อมูลออนไลน์ การสนทนาบนโลกดิจิทัล โดยเนื้อหาทั้งหมดแบ่งเป็น7 หลักสูตร เช่น อินเทอร์เน็ตคืออะไร ลายนิ้วมือดิจิทัลของคุณ การเป็นนักคิดเชิงวิเคราะห์ คุณในฐานะพลเมืองดิจิทัล ฯลฯ โครงการ We Think Digital Thailand ยังออกแบบขึ้นเพื่อให้มีความเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่มโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างและพัฒนาขึ้นจากคำปรึกษาของพันธมิตรองค์กรและชุมชนต่างๆ เช่น สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และองค์กรต่างๆ จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้แน่ใจว่าคนไทยทุกคนจะได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลปัจจุบัน

นอกจากนี้ พันธมิตรของ Facebook อย่างมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย ยังจะดำเนินโครงการผ่านการฝึกอบรมแบบตัวต่อตัวสำหรับกลุ่มต่างๆ เช่น สภาเยาวชนแห่งประเทศไทย ภายใต้การดูแลของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากความร่วมมือในครั้งนี้ Facebook มุ่งมั่นที่จะฝึกอบรมทักษะการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีแก่ผู้นำเยาวชนจากทั้ง 5 ภูมิภาคในประเทศ ภายในหกเดือนแรกของปี พ.ศ.2563 ทั้งนี้ Facebook ยังได้ร่วมมือกับ Love Frankie เอเจนซี่ด้านการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในการจัดโครงการ We Think Digital Champions Academy เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่ออบรมองค์กรและชุมชนต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการในการจัดทำแคมเปญออนไลน์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี Facebook จะช่วยสนับสนุนผู้นำท้องถิ่นในการจัดทำแคมเปญเพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีในชุมชนของพวกเขาผ่านโครงการดังกล่าว การจัดกิจกรรมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการดำเนินงานร่วมกับทั้งผู้นำเยาวชนและผู้นำชุมชน ทำให้โครงการ We Think Digital Thailand เป็นโครงการที่บุกเบิกวิธีการใหม่ๆ และสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบ

ไซมอน มิลเนอร์ รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Facebook อธิบายถึงวิสัยทัศน์ของโครงการ We Think Digital ที่งานเปิดตัวเอาไว้ว่า “ในปัจจุบัน โลกของเราเป็นโลกที่เชื่อมต่อกันมากขึ้น และผู้คนมีโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา การช่วยเหลือคนไทยในการพัฒนาทักษะการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลและการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีจึงมีความสำคัญต่อการสร้างชุมชนดิจิทัลที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ในเชิงบวก โครงการ We Think Digital Thailand ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงความเชื่อหลักนี้ และเราภูมิใจที่ได้นำโครงการนี้มาสู่ประเทศไทยในวันนี้”

จากการศึกษาโดย YouGov เมื่อเร็วๆ นี้ที่ได้รับการสนับสนุนโดย Facebook ประเทศไทย ร้อยละ 81 ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่าพาสเวิร์ดสำหรับโซเชียลเน็ตเวิร์กของตนเองนั้นปลอดภัยเป็นอย่างมากและค่อนข้างมาก โดยร้อยละ 72 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้แชร์พาสเวิร์ดของพวกเขากับผู้อื่น ในขณะที่ร้อยละ 67 ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขาใช้พาสเวิร์ดที่ประกอบด้วยตัวหนังสือและตัวเลข ทั้งนี้ มีเพียงร้อยละ 58 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่รู้จักการยืนยันตัวตนผ่านสองขั้นตอน (2-factor authentication หรือ 2FA) ในขณะเดียวกัน ผู้ตอบแบบสอบถามทุกคนสามารถระบุสถานการณ์อย่างน้อยหนึ่งสถานการณ์ที่สามารถทำให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง (phishing) และมีเพียงร้อยละ 40 ที่สามารถระบุลักษณะทั้งหมดที่เกี่ยวของกับการหลอกลวงแบบฟิชชิ่งได้อย่างถูกต้อง

สำหรับหัวข้อเกี่ยวกับทักษะด้านการคิดเชิงวิเคราะห์ เมื่อผู้คนมีส่วนร่วมกับข้อมูลออนไลน์ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 2 ใน 3 คน กล่าวว่าพวกเขาตรวจสอบที่มาของข้อมูลดังกล่าวว่าเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือหรือไม่ และร้อยละ 71 อ่านบทความจนจบก่อนแชร์ ร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการความช่วยเหลือและคำปรึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ณ งานเปิดตัวโครงการ We Think Digital นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวชมเชยโครงการว่า “ทั้งกระทรวงฯ และ Facebook ต่างมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการสร้างความมั่นใจให้คนไทยทุกคนในพื้นที่ออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทย ความร่วมมือระหว่าง Facebook และหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงนักวิชาการ และภาคประชาสังคมจากทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย มีความหมายว่าโครงการ We Think Digital จะสนับสนุนคนไทยจากทุกพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ด้วยการช่วยเหลือให้พวกเขาได้รับประโยชน์จากโลกดิจิทัล โดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ อายุ รสนิยมทางเพศ ความสามารถทางร่างกายและสถานะทางสังคมแต่อย่างใด”

ดร. ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่แพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียชั้นนำระดับโลกอย่าง Facebook ได้เลือกเราเป็นส่วนหนึ่งของคณะที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาโครงการ We Think Digital ของประเทศไทย เราเชื่อว่าความรู้ดิจิทัลเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้คนไทยสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพในโลกยุคใหม่ โครงการ We Think Digital Thailand ยังจะมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ผ่านการสนับสนุนคนไทยบนโลกออนไลน์ให้มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมและพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อศตวรรษที่ 21 ของพวกเขา”

รองศาสตราจารย์พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้ ในฐานะหนึ่งในสมาชิกของคณะที่ปรึกษาของโครงการว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเป็นผู้นำในการสร้างการมีส่วนร่วมบนโลกดิจิทัล ในฐานะที่เป็นประเทศที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก โดยข้อเท็จจริงนี้เป็นที่รับรู้เป็นอย่างดีในกลุ่มคนรุ่นใหม่และนักศึกษา ซึ่งเข้าใจถึงความสำคัญของนวัตกรรมและการผลักดันตนเอง ดังนั้น หน้าที่ของเราคือการมอบโอกาสในการพัฒนาทักษะและความรู้ในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อความสำเร็จของคนรุ่นต่อไป นอกจากนี้ การปรึกษาและพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมทำให้โครงการ We Think Digital มีความเข้าใจและคำนึงถึงแนวคิดของผู้ประกอบการของเยาวชนไทยอย่างแท้จริง”

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ We Think Digital Thailand และหลักสูตรการเรียนรู้ของโครงการ กรุณาเยี่ยมชม wethinkdigital.fb.com/th 

###

คณะที่ปรึกษาของโครงการ We Think Digital Thailand

  • อานัส พงค์ประเสริฐ ประธานกลุ่มสายบุรีลุ๊คเกอร์
  • อิสดอร์ เรโอด์ ผู้ช่วยประธานมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ
  • กานต์ อรรถยุกติ เหรัญญิก สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย
  • กุลธิดา ยะไชย นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และผู้นำกลุ่ม Young Moves
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กุสุมา กูใหญ่ ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • นพรุจ หมื่นแก้ว ประธานเครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย (TNY+)
  • รองศาสตราจารย์ พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ปิยะวดี พงศ์ไทย ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์
  • ดร. ศรีดา ตันทะอธิพานิช ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์
  • ธนากร ช่องงาม นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • วีระ นิจไตรรัตน์ ที่ปรึกษาศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์และคณะกรรมการบริหารแผนสำนัก 6 สสส.

About naruethai

Check Also

โครงการฝึกอบรมทักษะดิจิทัล ‘Boost with Facebook’ สนับสนุนผู้ประกอบการจากชุมชนชายขอบทั่วไทย พร้อมเปิดตัวคู่มือพลิกสถานการณ์ ช่วย SME ฟื้นตัวร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย

นับตั้งแต่เปิดตัวในปี พ.ศ.2563 ได้มีการจัดฝึกอบรมแบบออฟไลน์ไปแล้ว 19 ครั้งและแบบออนไลน์ 27 ครั้ง เพื่อสนับสนุนธุรกิจทั่วประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการที่มาจากกลุ่มหลากหลายและชุมชนชายขอบต่างๆ เช่น กลุ่มเพศทางเลือก กลุ่มผู้พิการ และชนกลุ่มน้อย เป็นต้นร้อยละ 60 …

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน-หัวเว่ย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

RMUTI NEXT GEN DIGITAL UNIVERSITY กรุงเทพฯ ประเทศไทย – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้ชื่อ …