บทความซึ่งเขียนโดย Ekta Sivasriamphai, Head of Marketing, บริษัท ThoughtWorks ได้เปิดเผยว่า แม้ว่าประโยชน์ของการสร้างทีมงานที่มีความหลากหลายจะมีรายงานให้เห็นกันทั่วไป แต่องค์กรหลายแห่งในเอเชียกลับเพิ่งเริ่มขยับตัว
ยิ่งโลกกลายเป็นโลกาภิวัฒน์มากขึ้น กลุ่มคนเก่งที่บริษัทอยากได้มาร่วมงานด้วยก็มาจากหลายพื้นที่ที่มีความต่างกันทางด้านภูมิศาสตร์มากขึ้น นอกจากนี้แนวโน้มที่คนเก่งรุ่นใหม่ต้องการทำงานในองค์กรซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องความหลากหลาย รวมทั้งการยอมรับ และเห็นคุณค่าของพนักงานที่มีความต่างในด้านต่างๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย บริษัทคู่แข่งเองก็เริ่มใช้หลักการใหม่ในการพิจารณาว่าจ้างพนักงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ผู้บริหารเอเชียต้องตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างให้ได้อย่างแท้จริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ทั้งเวลาและการร่วมมือกันทั้งจากนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งหากทำถูกทางแล้ว ประโยชน์ที่องค์กรจะได้นั้นมีมากมายประเมินค่ามิได้ โดยไม่เพียงแต่จะรักษาพนักงานให้อยู่นานขึ้นและร่วมขับเคลื่อนองค์กรเท่านั้น แต่ยังจะได้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์และความคิดเห็นต่างๆ มากมาย ซึ่งเป็นผลมาจากการมีทีมงานที่หลากหลายนั่นเอง
ในการสร้างความหลากหลายของทีมงาน มีประเด็นหลัก 4 อย่าง ที่ทีมผู้บริหารควรพิจารณาคือ
1. สร้างวัฒนธรรมที่เกื้อหนุนความหลากหลาย
- สร้างสภาพแวดล้อมที่ยอมรับความเห็นต่าง เพื่อส่งเสริมการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องกังวลถึงความเสี่ยงใดๆ และขั้นตอนการว่าจ้างพนักงานที่ยึดมั่นในเรื่องความหลากหลายนั้น จะช่วยผลักดันการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่มีความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างในแบบที่แต่ละคนเป็นได้อย่างแท้จริง
- มีช่องทางให้คำปรึกษา เพื่อไม่ละเลยความอคติต่อชาติกำเนิดหรือความอคติที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว องค์กรจำเป็นต้องมีการพูดคุยอย่างเปิดเผยสำหรับตรวจสอบความอคติเหล่านี้ เพื่อให้สถานที่ทำงานมีความหลากหลายอย่างแท้จริง ซึ่งวิธีการแก้ไขนั้น มีหลากหลายวิธี บริษัทควรค้นหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดตามสถานการณ์
2. ใช้แนวทางการจ้างงานที่รอบด้าน
- พิจารณาคุณสมบัติด้านอื่นนอกเหนือจากคุณสมบัติมาตรฐานของตำแหน่งงานนั้นๆ โดยคำนึงถึงเป้าหมายที่บริษัทต้องการ ไม่ใช่แค่หาพนักงานเข้ามาทำงานเท่านั้น ทีมสรรหาบุคลากรมักจะแค่หาพนักงานเข้ามาทำงาน โดยลืมคำนึงถึงคุณสมบัติของผู้สมัครที่จะสามารถเติมเต็มเรื่องความหลากหลายได้ อันจะนำพาองค์กรให้เติบโตและผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ สิ่งที่ต้องระลึกไว้คือ ทักษะสอนกันได้ง่ายกว่าความถนัดและความหลงใหล
- กำหนดเป้าหมายเรื่องความหลากหลายให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่พนักงานส่วนใหญ่มักจะเป็นเพศใดเพศหนึ่ง เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นเพศชาย ขั้นตอนการว่าจ้างพนักงานที่ยึดมั่นในเรื่องความหลากหลาย จะผลักดันการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่มีความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างในแบบที่แต่ละคนเป็นได้อย่างแท้จริง การจ้างงานบางตำแหน่งอาจต้องใช้เวลา แต่อย่าละเลยเป้าหมายเรื่องความหลากหลายที่ได้กำหนดไว้แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนเก่งที่จะว่าจ้างมานั้นจะประสบความสำเร็จในมุมของวัฒนธรรมองค์กรอีกด้วย
- ส่งเสริมให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ โดยจัดหาสิ่งที่จำเป็นให้ เช่นงบประมาณและเวลาเพื่อการคิดริเริ่มและดำเนินโครงการต่างๆ ทั้งภายในหรือภายนอกบริษัท นอกจากนี้ควรสนับสนุนพนักงานในการเป็นผู้นำหรือคิดริเริ่มกิจกรรม เพื่อโอกาสในการพบปะกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาเดียวกันภายนอกองค์กร เพื่อเปิดโลกทัศน์และมุมมองใหม่ๆ
- สนับสนุนให้พนักงานระดับผู้นำรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และเป็นผู้นำตัวอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนตามหลักภูมิประชากรศาสตร์ หรือ Demographic เช่น องค์กรด้านเทคโนโลยีควรสนับสนุนให้ผู้นำสตรีมีส่วนร่วมในการประชุมที่เกี่ยวกับบทบาท และความโดดเด่นด้านความเป็นผู้นำของสตรี เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงรุ่นใหม่ที่สนใจเข้าทำงานในอุตสาหกรรมนี้
3. ร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม community อย่างแข็งขัน
- มีส่วนร่วมในกิจกรรมของกลุ่ม community และกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ทั้งให้การสนับสนุนหรือร่วมกิจกรรมอย่างแข็งขัน เพื่อดึงดูดคนเก่ง และสร้างความผูกพันกับพนักงานที่มีอยู่
- สนับสนุนกลุ่ม community ที่เป็นกลุ่มผู้หญิง หรือกลุ่มที่กำลังพยายามเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ให้เติบโตก้าวหน้า ทั้งในรูปแบบของการให้คำปรึกษา และการ coaching จากผู้ที่ประสบความสำเร็จ
การทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่ม community อื่นๆ จะส่งผลดีให้พนักงานได้ค้นพบบทบาทของตัวเองที่จะช่วยเหลือผู้อื่นภายนอกองค์กรได้
ในขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นองค์กรที่มีความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างได้นั้น จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและทบทวนเป้าหมายอยู่บ่อยครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าได้เดินมาถูกทางแล้ว นอกจากนี้ การรับฟังความคิดเห็นจากคนในองค์กรก็นับว่ามีความสำคัญ เพราะจะรู้ว่าต้องปรับปรุงอะไรบ้าง
มาตรการเหล่านี้ช่วยให้คุณรู้ถึงปัจจัยสนับสนุนที่ยังต้องการ หรืออาจต้องมีการปรับเปลี่ยน และค้นหาแนวทางใหม่ๆ หากพบว่ายากที่จะบรรลุเป้าหมาย
การมีพนักงานที่มีความหลากหลายยังหมายถึงการเปิดรับหัวข้อสนทนาที่อ่อนไหว ซึ่งปกติแล้วอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะหยิบยกมาพูดคุยได้ การส่งเสริมให้พนักงานได้แสดงความเห็นต่างได้อย่างเต็มที่ จะเอื้อต่อการเสริมสร้างความรู้สึกที่ได้รับการยอมรับได้เป็นอย่างดี
มาตรการทั้งหมดที่กล่าวมา จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจ และการยอมรับซึ่งกันและกันในองค์กร ทั้งยังเอื้อต่อความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของพนักงานอีกด้วย
###