จุดพลุ!! รมว.ดีอีเอสควบรวมตั้ง NT รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของไทยสำเร็จ มั่นใจศูนย์บริการพร้อมดูแลลูกค้าทั่วประเทศ

รมว.ดีอีเอสมั่นใจผลงานควบรวมประวัติศาสตร์  พร้อมชู NT รับภารกิจหนุนดิจิทัลภาครัฐและดูแลความมั่นคง เชื่อมั่นประเทศลดการลงทุนซ้ำซ้อนและประชาชนได้รับประโยชน์เพิ่มชัดเจน

วันนี้ (7 มกราคม 2564) เวลา 10.00 น. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดตัวบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT  โดยมีหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร  ประธานกรรมการ NT และนาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT นำคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานเข้าร่วม ณ ห้องออดิทอเรียม สำนักงานใหญ่ NT ถนนแจ้งวัฒนะ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าการควบรวมครั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ที่เห็นชอบให้ CAT และ TOT  ควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียวภายใน 6 เดือนเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนของภาครัฐ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน  และเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนนโยบายของรัฐในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งบริการเพื่อสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยต่อมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติขยายเวลาดำเนินการควบรวมให้อีก 6 เดือน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด  โดย NT ยังคงมีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  มีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด

“ผมมีความตั้งใจที่จะสนับสนุนให้ NT มีความแข็งแรง สามารถเป็นกลไกในการผลักดันนโยบายด้านดิจิทัลของภาครัฐในด้านต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่าจากศักยภาพขององค์กรที่ควบรวมทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมกันทั้งสินทรัพย์ โครงข่าย เทคโนโลยี บุคลากร ที่มีอยู่ จะสามารถรองรับและมีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และสิ่งที่ผมยินดีอย่างยิ่งคือการควบรวมในครั้งนี้  เรายังสามารถดูแลพนักงานทุกคนได้เป็นอย่างดี  ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังใจและความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อให้บริการได้อย่างเต็มที่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

ในการควบรวมครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมกับคู่ค้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และลูกค้าเนื่องจาก NT จะรับโอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดชอบ และสินทรัพย์ของ CAT และ TOT มาทั้งหมด  โดย NT พร้อมที่จะดำเนินงานของ CAT และ TOT อย่างต่อเนื่อง  รวมถึงการให้บริการลูกค้าเดิมของ CAT และ TOT โดยทั้งสองหน่วยงานได้พิจารณาแนวทางการให้บริการในด้านต่าง ๆ ร่วมกันเพื่อจะอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้มากยิ่งขึ้นตั้งแต่วันแรกของการควบรวม

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NTเปิดเผยว่าศูนย์บริการลูกค้าของ NT ได้เชื่อมโยงระบบของ CAT และ TOT เดิมเพื่อสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง  พร้อมทั้งฝึกอบรมพนักงานให้เรียนรู้ ส่งต่อ และติดตามงานระหว่างกันได้  นอกจากนี้ยังมีแคมเปญพิเศษโดยมีการแจกซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กับลูกค้าอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่เดิม  รวมถึงมีการจัดโปรโมชั่นสำหรับลูกค้าใหม่ที่สมัครใช้บริการอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ NT ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2564

“ในวันจดทะเบียนและเริ่มดำเนินกิจการ  NT มีศูนย์บริการลูกค้าทั่วประเทศ 536 แห่ง  ซึ่งก็คือสำนักงานบริการลูกค้า, CAT Shop ศูนย์บริการลูกค้าของ CAT และ TOT ทั้งหมด  ในเบื้องต้นลูกค้าเดิมของ CAT และ TOT สามารถติดต่อใช้บริการต่าง ๆ ได้จากศูนย์บริการลูกค้า NT ทุกแห่ง ซึ่งจะมีการระบบในการเชื่อมโยงและส่งต่องานระหว่างกัน   นอกจากนี้ได้จัดทำศูนย์บริการลูกค้าต้นแบบจำนวน 12 แห่งที่จะสามารถให้บริการได้แบบเบ็ดเสร็จด้วยการวางระบบและจัดเจ้าหน้าที่ของทั้งสององค์กรให้ปฏิบัติงานร่วมกัน  ทั้งนี้ ลูกค้ายังคงสามารถใช้ช่องทางการชำระค่าใช้บริการต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมได้ทั้งหมด”

สำหรับสำนักงานใหญ่ของ NT ตั้งอยู่ที่เลขที่ 99 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210  โดยผู้ใช้บริการติดต่อสอบถามรายละเอียดและสมัครใช้บริการต่าง ๆ ของ NT ได้ที่ศูนย์บริการลูกค้า NT ทั่วประเทศ, NT Contact Center หมายเลขโทรศัพท์ 1888 ตลอด 24 ชั่วโมงและเว็บไซต์ www.ntplc.co.th

###

About naruethai

Check Also

ไอบีเอ็มเปิดบริการ IBM Cloud for Financial Services รองรับ Red Hat OpenShift และบริการ Cloud-native พร้อม SAP พาร์ทเนอร์ และฟินเทคกว่า 90 รายเข้าร่วมอีโคซิสเต็ม

ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ ย้ายเวิร์คโหลดสู่ IBM Cloud for Financial Services  กรุงเทพฯ​ ประเทศไทย – ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) ประกาศพร้อมเปิดให้บริการ IBM …

ซัพพลายเชนที่ทันสมัยต้องอยู่บนคลาวด์

บทความโดย นายฟาบิโอ ทิวิติ รองประธาน บริษัท อินฟอร์ อาเชียน องค์กรด้านซัพพลายเชนจะต้องมั่นใจว่าขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ กำลังดำเนินไปอย่างเหมาะสม และมีการใช้เครื่องมือดีที่สุดในทุกขั้นตอนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ความต้องการ, การจัดซื้อ, การผลิต, การจัดการสินค้าคลัง …