ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี  เดินหน้าสร้างนวัตกรรมไมโครชิพ ยกระดับอุตสาหกรรมต้นน้ำไทย ชูเทคโนโลยี RFID อัจฉริยะเปลี่ยนโลก ต่อยอดผลิตภัณฑ์ยุค  IoT สร้างมูลค่าเพิ่มทุกธุรกิจ

นายมานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2563  บริษัทฯ  มีนโยบายเชิงรุกในการดำเนินธุรกิจด้านนวัตกรรมการคิดค้นพัฒนาและผลิตไมโครชิพ สำหรับอุปกรณ์ RFID (Radio Frequency Identification) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับการระบุสิ่งต่างๆ โดยอาศัยคลื่นวิทยุในแต่ละคลื่นความถี่ ซึ่งบริษัทฯเป็นผู้ประกอบการสัญชาติไทยรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประกอบธุรกิจหลักด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่การวิจัยพัฒนา ผลิตชิพ ส่งทดสอบ ทําการตลาดและจัดจําหน่ายซึ่งมีมาตรฐานสูงเทียบเคียงกับบริษัทชั้นนําในซิลิคอนวัลเลย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา  (Silicon Valley) 

ทั้งนี้ ไมโครชิพ อุปกรณ์ระบบ RFID เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนามาจากเทคโนโลยีระบบบาร์โค้ด (Barcode) โดยสามารถใช้งานได้หลากหลาย และยังสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การพัฒนาอุปกรณ์ระบบ RFID มีแนวโน้มต้นทุนที่ถูกลงในขณะที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบบาร์โค้ด หรือคิวอาร์โค้ด (QR Code) นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับระบบฐานข้อมูลผ่านระบบ Cloud ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น  นับว่าเป็นนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการทำธุรกิจของหลากหลายอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันมีการนำมาใช้งาน อาทิ ด้านความปลอดภัย เช่น บัตรสำหรับใช้ผ่านเข้า-ออกสถานที่ต่างๆ หรือกุญแจสำรองอิเล็คทรอนิกส์สำหรับยานยนต์, การเพิ่มผลผลิตและความปลอดภัยในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น แคปซูลขนาดเล็กฝังเอาไว้ในตัวสัตว์เพื่อใช้บันทึกประวัติต่างๆ และใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับ (Food Safety and Traceability), ด้านการวางแผนการผลิต หรือการตรวจสอบคุณภาพการผลิต (Quality Control) ตลอดจนกระบวนการผลิตต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรมการผลิต, การขนส่งสินค้า หรือ การตรวจสอบสถานะสินค้าและรถขนส่ง

นอกจากนี้ ยังนำไปใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้รับความสะดวกสบายและรวดเร็วในการพัฒนาสินค้าในการสื่อสารระหว่างกันด้วยระบบ RFID ตามกระแส Internet of Things (IoT) เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น อาทิ การเชื่อมโยงระบบการจ่ายชำระเงินกับเครื่องจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามร้านค้าหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ (E-payment), การนำไปใช้เป็นฉลากอัจฉริยะเพื่อพิสูจน์การปลอมแปลงสินค้าได้ทันทีในกลุ่มธุรกิจสินค้าที่มีมูลค่า (Smart Label), การนำไปใช้ควบคุมการทำงานของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในยานยนต์หรือในบ้าน (Smart home or Smart car) หรือการนำไปใช้เป็นอุปกรณ์ติดตัวผู้ป่วยเพื่อเก็บข้อมูลการรักษาและติดตามตำแหน่งผู้ป่วย (Smart Healthcare)

นายมานพ กล่าวว่า  ปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาไมโครชิพสำหรับเครื่องตรวจวัดอัจฉริยะ (Smart Sensor) เพื่อเชื่อมต่อการวัดและการอ่านค่าองค์ประกอบต่างๆ ให้มีความสะดวกรวดเร็วและใช้งานได้ง่าย เช่น สามารถอ่านค่าได้โดยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาเป็นอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นได้ อาทิ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจวัดเชื้อโรคในสารคัดหลั่ง ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาการปรับปรุงให้มีมาตรฐานสูง ให้ใกล้เคียงกับการวัดของเครื่องมือชั้นสูงในโรงพยาบาล , ตรวจวัดปริมาณของแข็งที่แขวนลอยหรือละลายในน้ำ (TDS)  ตรวจวัดสารเคมีตกค้างในน้ำประปาหรือน้ำในแม่น้ำลำคลอง การตรวจวัดองค์ประกอบทางเคมีในพืชผลการเกษตรเพื่อการส่งออก เป็นต้น  ขณะเดียวกันยังพร้อมจะพัฒนาไมโครชิพ Smart Sensor สำหรับบริษัท Biosensor ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเพื่อตรวจวัดความชัดเจน เที่ยงตรง ซึ่งจะช่วยทดแทนเครื่องมือราคาแพง และการเข้าถึงบริการที่แพง ให้เข้าถึงได้ในค่าใช้จ่ายที่เอื้อมถึงได้ สะดวก และรวดเร็ว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาเป็นแพลตฟอร์มหลักในเรื่องของ Smart Health ในอนาคต

“ธุรกิจหลักของบริษัทฯ จัดอยู่กลุ่มเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0  โดยมีบทบาทสำคัญในการเป็นกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และนับเป็นผู้ประกอบการไทยที่เป็นภาคเอกชนเพียงรายเดียวในประเทศที่มีทีมผู้บริหารและทีมงานวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนาไมโครชิพสำหรับระบบ RFID มาอย่างต่อเนื่องเกือบ 20 ปี นอกจากนี้ สินค้าของบริษัทฯ ยังได้รับการยอมรับและส่งออกเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ผลิตสินค้าในระบบ RFID ชั้นนำทั่วโลก” นายมานพ กล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่า

บริษัท ฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ในการออกแบบและพัฒนาชิพสำหรับอุปกรณ์ RFID เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำของประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทฯ จึงยังมุ่งมั่นการวิจัย พัฒนาไมโครชิพและพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และสินค้าใหม่ ๆ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญให้แก่วิศวกรทุกระดับของบริษัทอย่างต่อเนื่อง เทียบเท่ากับบริษัทชั้นนำในระดับสากล ตลอดจนร่วมพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่ออบรมและให้ความรู้แก่นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงแนวทางการเติบโตในสายงาน พร้อมส่งเสริมให้มีบุคลากรในวิชาชีพดังกล่าวเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังให้ความสำคัญต่อการเป็นพันธมิตรกับองค์กรต่างๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้าน RFID ให้แก่ประเทศไทย อาทิ สถาบันการศึกษา, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เป็นต้น

###

About naruethai

Check Also

ไอบีเอ็มเปิดบริการ IBM Cloud for Financial Services รองรับ Red Hat OpenShift และบริการ Cloud-native พร้อม SAP พาร์ทเนอร์ และฟินเทคกว่า 90 รายเข้าร่วมอีโคซิสเต็ม

ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ ย้ายเวิร์คโหลดสู่ IBM Cloud for Financial Services  กรุงเทพฯ​ ประเทศไทย – ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) ประกาศพร้อมเปิดให้บริการ IBM …

ซัพพลายเชนที่ทันสมัยต้องอยู่บนคลาวด์

บทความโดย นายฟาบิโอ ทิวิติ รองประธาน บริษัท อินฟอร์ อาเชียน องค์กรด้านซัพพลายเชนจะต้องมั่นใจว่าขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ กำลังดำเนินไปอย่างเหมาะสม และมีการใช้เครื่องมือดีที่สุดในทุกขั้นตอนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ความต้องการ, การจัดซื้อ, การผลิต, การจัดการสินค้าคลัง …

Sahifa Theme License is not validated, Go to the theme options page to validate the license, You need a single license for each domain name.