สี่ “O” ของ Open Banking

โดยอิสมาอิล ชาอิบ

ขณะที่ผมกำลังศึกษาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อยู่นั้น แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องโอเพ่นซอร์สเป็นที่ถกเถียงกันมาก อาจารย์ของพวกเราที่มหาวิทยาลัยเห็นว่าความคิดเรื่องโอเพ่นซอร์สน่าสนุก แต่ติดที่จะนำไปใช้ให้เหมาะสมกับวิถีในการทำธุรกิจได้อย่างไร ในทางกลับกันพวกเรานักเรียนเห็นว่า โอเพ่นซอร์สเป็นแนวคิดที่มีพลัง และมีความเป็นไปได้สูงในการนำไปใช้งาน โอเพ่นซอร์สไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือที่เชื่อถือได้และฟรีเท่านั้น แต่ยังมอบโอกาสให้เราคืนกลับองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนทั่วโลกจากห้องเรียนเล็ก ๆ ของเราในแอลจีเรียได้อีกด้วย

การถกเถียงกันอย่างร้อนแรงเกี่ยวกับโอเพ่นซอร์สในขณะนั้น ก็ไม่แตกต่างไปจากการถกเถียงกันเรื่อง Open Banking ในยุโรปและทั่วโลกในปัจจุบัน และตั้งแต่โอเพ่นซอร์สกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นกันทั่วไป ผมก็เชื่อตั้งแต่ตอนนั้นว่า Open Banking จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ปรากฎอยู่ในทุกภาคส่วนของการบริการด้านการเงินในอนาคตเช่นกัน

Open Banking คืออะไร?

Open Banking เป็นรูปแบบการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบกระจายศูนย์ ที่อนุญาตให้ผู้บริโภคและบริษัทสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลทางธนาคารของตน (ประวัติการทำธุรกรรม, ยอดเงินในบัญชี และอื่น ๆ) กับผู้ให้บริการบุคคลที่สาม และผู้พัฒนาแอปโดยใช้ Application Programming Interfaces (API) ซึ่งโดยปกติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อลูกค้าปลายทางอนุมัติไว้ล่วงหน้าเท่านั้น

Open Banking จะช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้งานแอปพลิเคชันที่พัฒนาโดยผู้ให้บริการอื่นได้ แทนการเข้าใช้งาน Online Interface ของธนาคารใดธนาคารหนึ่ง โดยแอปเหล่านี้สามารถปรับให้เหมาะกับความชอบและความต้องการเฉพาะบุคคลได้ เช่น เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กอาจเลือกใช้บริการบัญชีออนไลน์ที่เชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารของตนเพื่อกระทบยอดใบแจ้งหนี้ ในขณะที่ผู้พิการทางสายตาจะใช้อุปกรณ์ช่วยในเรื่องเสียงเพื่อปรึกษาเรื่องยอดคงเหลือของเขา นอกจากนี้ Open Banking ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ ดังนั้น ด้วยการบูรณาการและการปรับใช้อย่างต่อเนื่อง Open Banking จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถสร้างแอปที่ยืดหยุ่นคล่องตัว สามารถตอบสนองความต้องการด้านกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอได้

ทำไมต้อง Open Banking?

Open Banking มักจะถูกมองว่าจะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนนวัตกรรม และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสม มีการนำ Open Banking ไปใช้งานหรือกำลังอยู่ในระหว่างการหารือร่วมกันกับผูู้กำกับดูแลกฎระเบียบในกว่า 47 ประเทศทั่วโลก เช่น ใน 28 ประเทศในสหภาพยุโรปจำเป็นต้องเปิด API ให้ธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาใช้งานได้ภายใต้คำสั่งของกฎระเบียบใหม่ในการชำระเงิน (Payment Services Directive2 – PSD2) ที่มีผลบังคับใช้ทั่วทั้งสหภาพยุโรป

นอกจากการใช้ระบบ Open Banking จะทำให้สถาบันการเงินสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบได้แล้ว สถาบันการเงินจะได้รับประโยชน์จาก Open Banking ในสองกรณีต่อไปนี้

  1. สร้างโอกาสให้กับธนาคาร ทำให้กระบวนการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ปรับขยายได้ คู่ขนานไปกับความร่วมมือกับพันธมิตรนอกองค์กร ซึ่งพันธมิตรส่วนหนึ่งจะสามารถช่วยให้ธนาคาร นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น มอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า และทำให้ธนาคาร สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากรูปแบบการบริการใหม่ ๆ อีกด้วย
  2. ส่งเสริมประสิทธิภาพภายในองค์กร ด้วยการเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัล และการทบทวนขั้นตอนการทำงานที่มีอยู่เดิม ทำให้ธนาคารสามารถใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศของผู้ให้บริการภายนอกองค์กรและผู้เชี่ยวชาญได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความคล่องตัวและความยืดหยุ่นให้กับการดำเนินงานได้มากขึ้น

ในตลาดที่กำลังเติบโต ความสามารถในการสร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องของสถาบันทางการเงิน เป็นสิ่งสำคัญมาก บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ บริษัทสตาร์ทอัพที่เน้นด้านฟินเทค และสถาบันการเงินรูปแบบใหม่ ต่างนำมาซึ่งแนวคิดใหม่ พร้อมกับความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไป ธนาคารก็กำลังกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้วย การก้าวล้ำนำหน้าจึงถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

แล้วอะไรคือ สี่ “O” ของ Open Banking

อาจกล่าวได้ว่าหนทางสู่ความสำเร็จยังอยู่อีกยาวไกลสำหรับผู้ที่มุ่งมั่นสู่อนาคตที่เปิดกว้าง ซึ่งต้องเผชิญความท้าทายด้านการออกแบบ API ที่เป็นระบบเปิด หรือการสร้าง ecosystem ให้กับผู้ให้บริการภายนอกที่เกี่ยวข้องในการยอมรับการใช้งาน API เหล่านั้น ดังนั้นการเริ่มดำเนินการระบบ Open Banking จึงอาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก

เราได้ระบุหลักการสี่ข้อที่น่าจะช่วยให้การใช้ระบบ Open Banking ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งหลักการเหล่านี้ได้กลายเป็นคำจำกัดความซึ่งเรียกว่า Four Os ของระบบ Open Banking

  • Open Innovation – นวัตกรรมเปิด: เป้าหมายของการใช้ระบบ Open Banking คือการผลักดันนวัตกรรม สถาบันการเงินที่มีการใช้งาน API ควรจะต้องมีการคิดจากนอกเข้าใน และกำหนดให้การบริการของธนาคารมอบประสบการณ์ที่ดี เป็นมิตรและเปิดกว้างกับลูกค้า ซึ่งนวัตกรรมที่นำมาใช้นั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง และไม่เลือกปฏิบัติกับลูกค้ารายเล็ก ๆ เราเคยเห็นโครงการ Open Banking-as-a-Compliance ล้มเหลวมาแล้ว เนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงมุมมองของผู้ให้บริการอื่น ๆ
  • Open Standard – มาตรฐานเปิด : การนำมาตรฐานเปิดมาใช้ เป็นการแก้ไขความท้าทายที่นักพัฒนาส่วนใหญ่ไม่ยอมรับโซลูชันที่เหมาะสมจากภายนอกเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาภายในองค์กร  Open Banking Project (OBP) ที่รวมถึงคอมมิวนิตี้ของนักพัฒนาด้านฟินเทคทั่วโลกของเร้ดแฮทมากกว่า 11,000 ราย ได้ช่วยให้สถาบันทางการเงิน 40 แห่งใช้ APIs ได้อย่างปลอดภัย ปฏิบัติตามมาตรฐานของท้องถิ่นต่าง ๆ และสร้างระบบนิเวศที่รุ่งเรือง ช่วยให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ประหยัดเวลา และสามารถสร้าง APIs ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการศึกษาจากวิธีการและกรณีต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว อันจะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการก้าวสู่ความเป็น Open Banking รวดเร็วยิ่งขึ้น
  • Open APIs – APIs แบบเปิด: APIs แบบเปิดไม่ได้หมายถึง API สาธารณะ แต่เป็น APIs ที่สามารถเปิดให้กับบุคคลที่สามใช้งานได้ในลักษณะที่ควบคุมได้ และบุคคลที่สามควรใช้ APIs ของธนาคารได้โดยไม่ต้องถูกบังคับให้ผ่านหลายขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพื่อสนับสนุนการทดลองนี้ ลูกค้าของเร้ดแฮทหลายรายได้ลองใช้สภาพแวดล้อม sandbox ของ TESOBE (Technical Solutions Berlin), กิจกรรมแฮคคาทอน และรูปแบบการทดลองอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน
  • โอเพ่นซอร์ส – ระบบเปิด: การเลือกใช้โอเพ่นซอร์สสำหรับองค์กร เช่นเร้ดแฮท อาจหมายถึงว่าไม่มีการจำกัดการใช้เทคโนโลยีจากผู้ขายคนใดคนหนึ่ง (no vendor lock-in) และมีการควบคุมการสร้างส่วนประกอบของระบบ Open Banking อย่างสร้างสรรค์ การใช้และบูรณาการองค์ประกอบของโอเพ่นซอร์สสำหรับระบบ Open Banking จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ได้ทันทีที่ต้องการ

บทสรุป

เมื่อเราติดขัดเรื่องใดก็ตาม เราพยายามที่จะนำหลักการเหล่านี้มาใช้ ซึ่งเป็นหลักการที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังในการช่วยให้สถาบันการเงินเริ่มโครงการ Open Banking และเร้ดแฮทตั้งใจที่จะรวบรวมหลักการเหล่านี้ไว้ในซอฟต์แวร์ Open Bank Project ของเร้ดแฮท

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เร้ดแฮทได้เพิ่มโซลูชันซอฟต์แวร์บางตัวเข้าไปใน OBP เช่น Red Hat 3scale เพื่อการจัดการ API, Red Hat Fuse เพื่อการทำงานร่วมกับระบบเดิมของธนาคาร และ Red Hat OpenShift เพื่อการปรับใช้แบบไฮบริด การที่เครื่องมือโอเพ่นซอร์สเหล่านี้มาอยู่รวมกัน จะช่วยให้สามารถควบคุมการทำงานได้มากขึ้น และช่วยให้หลักการ Four Os พร้อมใช้สำหรับธนาคาร นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินสามารถนำความคิดของพวกเขาไปใช้จริงได้เร็วขึ้น

###

เกี่ยวกับผู้เขียน

อิสมาอิล คาลิบ เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ TESOBE – Technical Solutions Berlin ผู้ริเริ่มโครงการ Open Bank ซึ่งเป็นโซลูชั่น API โอเพนซอร์สชั้นนำสำหรับสถาบันการเงิน อิสมาอิลสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนีซ ประเทศฝรั่งเศส ด้วยปริญญาโทสาขาไอที หลงใหลในบทบาทของฟินเทคที่มีต่อสังคม เขาเป็นแกนนำในการสนับสนุนระบบ Open Banking  เขาปรากฏตัวในรายการนวัตกรรมของธนาคาร 44 แห่งที่เป็นผู้สร้างนวัตกรรมด้านฟินเทค เป็นชาวแอลจีเรียและอาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

About naruethai

Check Also

ไอบีเอ็มเปิดบริการ IBM Cloud for Financial Services รองรับ Red Hat OpenShift และบริการ Cloud-native พร้อม SAP พาร์ทเนอร์ และฟินเทคกว่า 90 รายเข้าร่วมอีโคซิสเต็ม

ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ ย้ายเวิร์คโหลดสู่ IBM Cloud for Financial Services  กรุงเทพฯ​ ประเทศไทย – ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) ประกาศพร้อมเปิดให้บริการ IBM …

ซัพพลายเชนที่ทันสมัยต้องอยู่บนคลาวด์

บทความโดย นายฟาบิโอ ทิวิติ รองประธาน บริษัท อินฟอร์ อาเชียน องค์กรด้านซัพพลายเชนจะต้องมั่นใจว่าขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ กำลังดำเนินไปอย่างเหมาะสม และมีการใช้เครื่องมือดีที่สุดในทุกขั้นตอนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ความต้องการ, การจัดซื้อ, การผลิต, การจัดการสินค้าคลัง …