การแข่งขันโค้ดดิ้ง micro:bit โดยไมโครซอฟท์และสิริเวนเจอร์ สร้างพลังทักษะดิจิทัลของเด็กผู้หญิง โดยทีมนักเรียนจาก ร.ร.อ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม คว้าที่หนึ่งด้วย ‘โครงงาน IoT แจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้’

  หนึ่งในโครงการ ไมโครซอฟท์ MakeWhatsNext – DigiGirlz เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรหญิงผ่านการเรียนโค้ด โดยมีทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เข้าเสริมทัพ

กรุงเทพฯ – 21 พฤษภาคม 2562 – การทำงานร่วมกันของกลุ่มบุคคลจากหลากหลายเพศสามารถนำมาซึ่งโซลูชันที่สร้างสรรค์และแปลกใหม่ด้วยมุมมองที่แตกต่างจะส่งผลให้เกิดผลงานที่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตามการเหมารวมว่าวงการเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมสำหรับผู้ชายเป็นหลักนั้นอาจทำให้บุคคลากรหญิงไม่เลือกที่จะเดินในสายนี้ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคของความก้าวหน้าด้านการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้เกิดความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการสนับสนุนให้ผู้หญิงหันมาสนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมนี้

เมื่อเร็วๆนี้ ไมโครซอฟท์จัดกิจกรรม  #MakeWhatsNext – DigiGirlz 2019 Thailand โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียนหญิงไทยให้ตระหนักถึงศักยภาพของตนเองและรับรู้ถึงทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อสามารถทำตามความฝันด้านสะเต็มศึกษาให้สำเร็จ ผ่านการแข่งขันการใช้ทักษะดิจิทัล ซึ่งปีนี้ ไมโครซอฟท์ได้นำ micro:bit เข้ามาใช้เป็นปีแรก โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จังหวัดอ่างทอง ซึ่งได้สร้างสรรค์โครงงาน “แบบจำลองการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ด้วยระบบ IoT” โดยเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ในบริเวณที่ติดตั้งอุปกรณ์ อุปกรณ์จะสามารถตรวจจับได้ว่าอุณหภูมิสูงเกินค่าที่กำหนดไว้หรือไม่ จากนั้น อุปกรณ์จะทำการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ผ่านแอปพลิเคชันการส่งข้อความ พร้อมส่งข้อมูลที่จำเป็น ได้แก่ แผนที่พิกัดที่ติดตั้งอุปกรณ์ อุณหภูมิที่เกิดเหตุ ชื่อของผู้ใช้งาน และเบอร์ติดต่อ ไปที่เว็บไซต์ที่จัดทำให้สำหรับสถานีดับเพลิง โดยในขณะเดียวกัน ตัวอุปกรณ์ก็จะสามารถสั่งงานให้เปิดน้ำเพื่อดับไฟแบบเบื้องต้นได้อีกด้วย โดยทีมผู้ชนะ ซึ่งได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษามูลค่า 30,000 บาท ได้แข่งขันร่วมกับทีมนักเรียนทั้งหมด 13 ทีม และมีนักเรียนหญิงผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 145 คน 

 นางสาวรัชนีจณะวัตรผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาดิจิทัลบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนของไมโครซอฟท์ ดิฉันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนเด็กผู้หญิงในการเรียนรู้และการประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มศึกษา ผ่านการมอบความรู้และฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็นให้กับพวกเขา และในฐานะที่ดิฉันเองก็เป็นผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในวงการเทคโนโลยี ดิฉันรู้สึกชื่นชมเด็กๆ ทุกคนที่เข้าร่วมในงานนี้ ทุกคนมีความตั้งใจ มีความสามารถ และมาเติมพลังด้วยกันในงาน ดิฉันหวังว่าโครงการ #MakeWhatsNext DigiGirlz จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสครั้งสำคัญในการสนับสนุนให้เด็กผู้หญิงหันมาสนใจเรียนรู้และประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มศึกษามากขึ้น และมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำมาซึ่งความสำเร็จในหน้าที่การงานของพวกเขาในอนาคตได้ ดิฉันต้องขอขอบคุณทางสิริเวนเจอร์ที่ได้ให้การสนับสนุนงานด้านการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลของไมโครซอฟท์มาโดยตลอด รวมไปถึงภาครัฐอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เป็นกำลังสำคัญอย่างแน่นแฟ้นของเราค่ะ ”

นางสาวจุฬาลักษณ์แตงเอี่ยมหนึ่งในสมาชิกของทีมนักเรียนที่ชนะเลิศการแข่งขันซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคมจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า “ก่อนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ สมาชิกทุกคนในทีมของเราไม่เคยมีทักษะด้านการเขียนโค้ดมาก่อนเลย ซึ่งเราได้มีโอกาสพัฒนาทักษะด้านการเขียนโค้ดเป็นครั้งแรกจากการฝึกอบรมที่ทางไมโครซอฟท์จัดขึ้นในวันแรกของการแข่งขัน และเรารู้สึกว่าการเข้าร่วมโครงการนี้เหมือนเป็นการเปิดโลกใหม่ให้กับเรา มันไม่ได้ยากเกินกว่าความสามารถ เมื่อเอามาประกอบความคิดสร้างสรรค์ทำให้เรารับรู้ว่าเราทำได้ โครงงานแบบจำลองการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ด้วยระบบ IoT ถูกจัดทำขึ้นเพราะเราเห็นว่าในปัจจุบัน มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้มากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกันหรือลดการสูญเสียได้ด้วยการใช้งานเทคโนโลยีเข้ามาช่วย”

 โครงการ #MakeWhatsNext – DigiGirlz 2019 Thailand เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์และพันธมิตรจากภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และบริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด

นายจิรพัฒน์จันทร์เจิดศักดิ์ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีบริษัทสิริเวนเจอร์สจำกัด กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิต (PropTech) รายแรกของไทย อาทิ Sansiri Home Service Application แอปพลิเคชันสำหรับลูกบ้านแสนสิริ และ Homestore แพลตฟอร์มรวบรวมไลฟ์สไตล์ออนไลน์แบบ One-Stop-Living ใหม่ล่าสุด สิริ เวนเจอร์ส เล็งเห็นถึงความสำคัญของ IoT ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยี Smart Living และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เยาวชนไทย รวมถึงเด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพในการเรียนรู้และสร้างสรรค์เทคโนโลยี เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลกของเรา ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ #MakeWhatsNext – DigiGirlz 2019 จะเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับน้องๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกคน พร้อมจุดประกายแรงบันดาลใจในการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลต่อไป”

###

ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์

บริษัทไมโครซอฟท์ (Nasdaq “MSFT” @Microsoft) ผู้นำระดับโลกในด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มและบริการที่มุ่งเสริมประสิทธิภาพการสร้างสรรค์ในโลกยุคโมบายและคลาวด์เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้ทุกคนและทุกองค์กรทั่วโลกให้บรรลุผลสำเร็จทีดียิ่งกว่า

บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัดก่อตั้งขึ้นในปี2536  มีความมุ่งมั่นในการช่วยให้คุณภาพชีวิตคนไทย70ล้านคนดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์   ไมโครซอฟท์ส่งเสริมให้คนไทยและภาคธุรกิจได้ตระหนักถึงศักยภาพที่มีอย่างเต็มเปี่ยมผ่านการใช้เทคโนโลยี  เทคโนโลยีที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในการทำงานการใช้ชีวิตและการสื่อสาร  ไมโครซอฟท์ให้บริการซอฟต์แวร์บริการและดีไวซ์ที่สามารถก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ  มีความสะดวกทันสมัย  และช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ไมโครซอฟท์ไม่หยุดนิ่งในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐพันธมิตรอย่างต่อเนื่องในการนำพลังของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย   

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปเยี่ยมชมหรือติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดได้ทางศูนย์ข่าวสารประเทศไทย(http://news.microsoft.com/th-th/) และทวิตเตอร์@MicrosoftTH

About naruethai

Check Also

โครงการฝึกอบรมทักษะดิจิทัล ‘Boost with Facebook’ สนับสนุนผู้ประกอบการจากชุมชนชายขอบทั่วไทย พร้อมเปิดตัวคู่มือพลิกสถานการณ์ ช่วย SME ฟื้นตัวร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย

นับตั้งแต่เปิดตัวในปี พ.ศ.2563 ได้มีการจัดฝึกอบรมแบบออฟไลน์ไปแล้ว 19 ครั้งและแบบออนไลน์ 27 ครั้ง เพื่อสนับสนุนธุรกิจทั่วประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการที่มาจากกลุ่มหลากหลายและชุมชนชายขอบต่างๆ เช่น กลุ่มเพศทางเลือก กลุ่มผู้พิการ และชนกลุ่มน้อย เป็นต้นร้อยละ 60 …

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน-หัวเว่ย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

RMUTI NEXT GEN DIGITAL UNIVERSITY กรุงเทพฯ ประเทศไทย – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ร่วมกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้ชื่อ …